น่าชื่นชม! 23 ปี ทุ่มฟื้นฟูปะการัง เกาะไม้ท่อนเห็นผลแล้ว

นักวิชาการฯ โพสต์ สำเร็จ 23 ปีของการทุ่มเทพลิกฟื้นแนวปะการังใต้ท้องทะเลเกาะไม้ท่อนที่เสียหายจากพายุให้กลับมาสมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 16 มีนาคม 2560, เวลา 09:27 น.

ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ได้มีการโพสต์วีดิโอคลิปความยาวประมาณ 2 นาที จำนวน 2 คลิป ลงในเฟสบุ๊คส่วนตัวชื่อ Nalinee Thongtham ทั้งนี้ในภาพดังกล่าวเป็นภาพแนวปะการังอุดมสมบูรณ์ มีปะการังหลายชนิด เกาะอยู่บนแท่งปะการังเทียมทรงสามเหลี่ยมพีรามิด และมีปลาและสัตว์นำขนาดเล็กแหวกว่ายไปมาจำนวนมาก

พร้อมระบุข้อความว่า “ ปะการังที่ฟื้นฟูขึ้นมาจากการทดลองสร้างพื้นที่ลงเกาะให้กับตัวอ่อนในธรรมชาติ เมื่อประมาณ 23 ปีก่อนยังดีที่มีบางอันพลิกคว่ำ และบางอันยังพอเห็นโครงสร้างด้านล่างอยู่บ้าง เป็นหลักฐานยืนยันว่าไม่ได้มั่วนิ่มเอาปะการังที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติมาอ้างว่าเป็นงานตัวเอง”

และอีกข้อความระบุว่า “คนที่จะฟื้นฟูปะการัง 1. ต้องเข้าใจว่าการฟื้นฟูปะการังแต่ละวิธีมันมีความเหมาะสมต่างกันไปตามพื้นที่ 2. ควรยอมรับความจริงที่ว่าแนวปะการังบางพื้นที่มันก็ไม่สามารถฟื้นฟูได้จริงๆ ถ้าเข้าใจ 2 ข้อนั้น และรู้จักใช้วิธีเหมาะสม ในพื้นที่ที่เหมาะสมบางทีงานฟื้นฟูก็ไม่ได้ยากและไม่ต้องลงทุนเยอะ ด้วยวัสดุถูกๆ อย่างอิฐบล็อกเทคาน หากไปวางในพื้นที่ที่มีตัวอ่อนปะการังในธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ไม่มีการรบกวน ตัวอ่อนปะการังก็สามารถมาลงเกาะได้เอง ขอเวลาประมาณ 15 ปี

ผู้สื่อข่าว ข่าวภูเก็ต ได้สอบถามไปยัง ดร.นลินี ทองแถม ทราบว่า ภาพปะการังจำนวนมากดังกล่าว เป็นปะการังที่เจริญเติบโตงอกงามขึ้นบนแท่งคอนกรีตหรือปะการังเทียมบริเวณเกาะไม้ท่อน อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดที่มีการทดลองนำแท่งคอนกรีตหรือปะการังเทียมไปวางตั้งแต่ปี 2537 หลังจากที่พบว่า ปะการังเขากวางซึ่งมีจำนวนมากในจุดดังกล่าวได้ถูกทำลายโดยพายุเมื่อประมาณ พ.ศ. 2529 และพบว่ามีการฟื้นตัวช้ามาก

แต่จากการสำรวจพบว่ามีตัวอ่อนปะการังหลายชนิด จึงได้มีการทดลองทำโครงสร้างแท่งคอนกรีตที่มีรูปทรงและความซับซ้อนแตกต่างกันไปวาง โดยหลังจากวางแท่งคอนกรีตพบว่าตัวอ่อนปะการังสามารถลงเกาะบนโครงสร้างดังกล่าว จึงได้มีการทดลองทำแท่งคอนกรีตรูปทรงต่างๆ เพิ่มเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการเป็นที่ลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง

เช่น แท่งคอนกรีตรูปทรงกระบอก ขนาดต่างๆ ซ้อนกันเป็นรูปสามเหลี่ยม แท่งคอนกรีตรูปโดม การเพิ่มพื้นที่ผิวบนวัสดุลงเกาะโดยการหุ้มอวน การทดลองใช้อิฐบล็อกเพื่อลดต้นทุนในการจัดทำโครงสร้างแท่งคอนกรีต และการทดลองย้ายปลูกปะการังเขากวางจากแหล่งพันธุ์บริเวณอื่นพบว่าปะการังมีการลงเกาะและเจริญเติบโตได้ดีและขึ้นคลุมแท่งคอนกรีตที่สร้างขึ้นจนมิดภายในเวลา 12-15 ปี หลังจากนั้นก็ยากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างปะการังที่เกิดจากการฟื้นฟูและแนวปะการังตามธรรมชาติ “ส่วนการย้ายปลูกปะการังเขากวางในพื้นที่บริเวณนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากคลื่นลมที่รุนแรงในบางช่วงพัดพาเอาทรายขึ้นมาเสียดสีหรือทับกับกิ่งปะการัง”

“นอกจากการศึกษาในเบื้องต้นแล้วยังได้ศึกษาทดลองเพื่อพัฒนาวิธีการฟื้นฟูปะการังในบริเวณนี้โดยวิธีการต่างๆ ซึ่งความรู้จากการศึกษาดังกล่าวได้ถูกปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด และได้นำไปใช้พื้นฟูแนวปะการังในบริเวณอื่นๆผลการศึกษาจากบริเวณเกาะไม้ท่อนนี้เอง ที่ทำให้ได้ข้อสรุปว่าการฟื้นฟูปะการังจะต้องดูความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมเป็นหลัก รวมทั้งจะต้องพิจารณาวิธีการฟื้นฟูปะการังให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ จึงจะทำให้การฟื้นฟูแนวปะการังประสบผลสำเร็จในระยะยาวยาว งานนี้ยังคงอยู่และคงเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาด้านฟื้นฟูปะการังกันต่อไป” ดร.นลินี กล่าว

“อย่างไรก็ตามสำหรับปะการังจนถึงปัจจุบัน 2560 รวมระยะเวลา 23 ปี โดยปรากฏว่าการเพาะขยายพันธุ์ประสบความสำเร็จ มีปะการังเกิดขึ้นจำนวนมาก จากการสำรวจในแนวปะการังพบปัจจุบันมีปะการังชนิดต่างๆรวมกว่า 30 ชนิด โดยหลักๆเป็นปะการังโขด และกลายเป็นแหล่งรวมและยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ถึงแม้ใน 2553 ที่ผ่านมา จะประสบกับปัญหาปะการังฟอกขาว หลังอุณหภูมิโลกและน้ำทะเลมีความร้อนเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังสามารถฟื้นฟูกลับมาสมบูรณ์ได้”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่