วาระจังหวัด vs การฝ่าฝืนสัญลักษณ์ธงแดง

ทันทีที่มีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวประสบเหตุจมน้ำเสียชีวิต ถึง 2 คนในห้วง 3 วันแรกของสัปดาห์ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุทันที และได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้จัดการเข้มงวดกับการลงเล่นน้ำของนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษในช่วงนี้ และได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อวางมาตรการป้องกันอย่างจริงจัง หลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวฝ่าฝืนธงแดงลงเล่นน้ำจนบาดเจ็บ-เสียชีวิตแล้วหลายราย

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันเสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2560, เวลา 09:00 น.

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของจังหวัดภูเก็ต เหตุการณ์นักท่องเที่ยวฝ่าฝืนสัญลักษณ์ธงแดงแล้วลงเล่นน้ำในบริเวณจุดเสี่ยงมีให้เห็นทุกปี แต่สิ่งที่พนักงานรักษาความปลอดภัยชายฝั่งหรือไลฟ์การ์ดทำได้ก็เพียงแค่ตักเตือนและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อยามเกิดเหตุ

เตือนกันมาทุกปี เตือนกันมาตลอด ทั้งป้ายคำเตือนที่มาหลากหลายภาษา การจัดทำโบรชัวแผ่นพับเพื่อวางไว้เป็นความรู้ในบริเวณโรงแรมต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงอันตรายจากกระแสน้ำในฤดูมรสุม และที่สำคัญบนชายหาดเองก็มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล และติดตั้งธงแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า “ห้ามเล่นน้ำ” หรือแม้แต่การปิดชายหาดด้วยเชือกพร้อมธงสีแดง รวมทั้งการตักเตือนด้วยคำพูดและภาษากายต่างๆ

หากผู้ที่ลงเล่นน้ำในจุดเสี่ยงจะอ้างว่าภาษาพูดไม่สามารถใช้สื่อสารระหว่างนักท่องเที่ยวกับพนักงานไลฟ์การ์ดได้ แต่เชื่อว่าภาษากายนั้นไม่ได้ยากเกินที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้นข้ออ้างต่างๆที่จะใช้ในการฝ่าฝืนคำเตือนของพนักงานนั้นไม่น่าจะฟังขึ้นสักเท่าไร นอกจากตัวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเองที่ “ดื้อ” และยืนยันที่จะ “ฝ่าฝืน” คำเตือนของพนักงานไลฟ์การ์ด โดยที่ไม่สนใจว่าการกระทำนั้นอาจจะส่งผลถึงชีวิต และทำให้พนักงานไลฟ์การ์ดต้องเสี่ยงชีวิตช่วยเหลือผู้ประสบเหตุหรือค้นหาผู้สูญหายด้วย

ถึงแม้ว่าพนักงานเหล่านั้นจะเต็มใจ ทุ่มเทแรงการแรงใจเพื่องานนี้ ฝึกฝนจนมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เพื่อที่จะรักษาชีวิตของพวกเราเอาไว้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพวกเราเองก็ควรดูแลรักษาชีวิตของตัวเองเอาไว้ด้วย แทนที่จะฝากไว้ในมือของคนอื่น

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่