ยะลา-ระนองน้ำท่วมคลี่คลาย 8 จังหวัดใต้ยังหนัก

ปภ.เผยสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดยะลา-ระนองคลี่คลายแล้ว ขณะที่อีก 8 จังหวัดภาคใต้ยังหนัก

โพสต์ทูเดย์

วันจันทร์ ที่ 9 มกราคม 2560, เวลา 09:56 น.

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 10 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และระนอง รวม 91 อำเภอ 569 ตำบล 4,205 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 330,318 ครัวเรือน 958,602 คน ผู้เสียชีวิต 19 ราย สูญหาย 1 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ ยะลา และระนอง ยังคงมีสถานการณ์ใน 8 จังหวัด รวม 85 อำเภอ 523 ตำบล 4,020 หมู่บ้านดังนี้

พัทลุง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอกงหรา อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอศรีบรรพต อำเภอเขาชัยสน อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม และอำเภอตะโหมด รวม 65 ตำบล 663 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 54,549 ครัวเรือน 128,036 คน

นราธิวาส น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงโก – ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอยี่งอ อำเภอตากใบ และอำเภอบาเจาะ รวม 75 ตำบล 496 หมู่บ้าน 3 เทศบาล 35 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,420 ครัวเรือน 131,182 คน

สงขลา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาหม่อม อำเภอสะเดา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอควนเนียง อำเภอรัตภูมิ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด รวม 51 ตำบล 316 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,778 ครัวเรือน 53,455 คน

ปัตตานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะรัง อำเภอกะพ้อ อำเภอหนองจิก อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอสายบุรี อำเภอแม่ลาน และอำเภอไม้แก่น รวม 46 ตำบล 180 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,599 ครัวเรือน 15,644 คน

ตรัง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด และอำเภอวังวิเศษ รวม 29 ตำบล 6 เทศบาล 235 หมู่บ้าน 15 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 94,448 ครัวเรือน 32,312 คน

สุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอดอนสัก อำเภอท่าชนะ อำเภอเกาะสมุย อำเภอไชยา อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และอำเภอบ้านนาเดิม รวม 57 ตำบล 427 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ53,720 ครัวเรือน 177,135 คน

นครศรีธรรมราช น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งสง อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล อำเภอนาบอน อำเภอพิปูน อำเภอช้างกลาง อำเภอฉวาง อำเภอนบพิตำ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพระพรหม อำเภอ เชียรใหญ่ อำเภอขนอม อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอบางขัน   อำเภอปากพนัง อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอหัวไทร และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวม 154 ตำบล 1,281 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72,337 ครัวเรือน

ชุมพร มีน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน อำเภอละแม อำเภอสวี และอำเภอเมืองชุมพร รวม 46 ตำบล 422 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 17 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,272 ครัวเรือน 47,113 คน โดยในภาพรวมสถานการณ์ในปัจจุบันยังมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำลดลง ยกเว้นจังหวัดนครศรีธรรมราช และชุมพร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และนราธิวาส ระดับน้ำทรงตัว

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย  และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทย พบว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลอันดามันตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดดังกล่าวและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมืออุทกภัยและดินถล่ม

ได้จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ประกอบการทางน้ำและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2560 ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทาง สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่