เด็กๆชาวโรฮิงญาบอกเล่าประสบการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่

สำนักข่าว BenarNews ลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพ ชายแดนบังกลาเทศ พวกเขาหนีเอาชีวิตรอดมาจากรัฐยะไข่ ที่ซึ่งการปราบปรามรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในขณะนี้

โพสต์ทูเดย์

วันอาทิตย์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560, เวลา 11:00 น.

ภาพ Esther Htusan

ภาพ Esther Htusan

บังคลาเทศ - เด็กๆชาวโรฮิงญาทั้งชายและหญิงในวัยตั้งแต่ 11-12 ปี ได้กลายเป็นพยานปากเอกในเหตุการณ์ปราบปรามชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาได้บอกเล่าประสบการณ์อันโหดร้ายที่เกิดขึ้นให้ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว BenarNews รับรู้ถึงชะตากรรมที่พวกเขาได้ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์เด็กๆจำนวน 19 คน ในระหว่างการเยี่ยมชมค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่ง ในเขต Cox’s Bazar ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้อพยพชาวโรฮิงญากว่า 65,000 คน ที่พากันหนีออกมาจากรัฐยะไข่ นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตัวเลขข้อมูลจากสหประชาชาติ

"ทหารเมียนมาลากตัวพี่ชายของหนูไปและฆ่าเขา จากนั้นก็เผาบ้านของเรา นอกจากนั้นยังทรมานผู้หญิงคนอื่นๆด้วย" Tasmin Khatun วัย 11 ขวบกล่าว ซึ่งในความหมายของเธอนั้นหมายถึงการข่มขืน

"พวกเราต้องซ่อนตัวอยู่ในป่าบริเวณนั้น หนูรู้สึกกลัวทุกครั้งที่นึกถึงมัน และไม่อาจข่มตาหลับในตอนกลางคืนได้" เด็กหญิงชาวโรฮิงญา เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังที่ค่ายพัก Kutupalong

กองกำลังทหารเมียนมาถูกกล่าวหาว่าพวกเขาทำร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา ในจำนวนนี้รวมถึงการสังหาร ทรมาณ ตลอดจนข่มขืนและเผาทำลายหมู่บ้าน การปราบปรามที่รุนแรงนี้เป็นผลมาตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารของนายตำรวจชายแดนจำนวน 9 ราย รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งขัดแย้งกับคำบอกเล่าจากบรรดาชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตมายังบังกลาเทศ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา BenarNews รายงานว่า หญิงสาวชาวโรฮิงญาจำนวน 17 คน จากทั้งหมด 54 คนที่เข้าสัมภาษณ์กับสำนักข่าวนั้น รายงานว่าตนถูกทหารเมียนมาข่มขืน

Abdul Malek วัยรุ่นชายชาวโรฮิงญา จากค่ายผู้อพยพ Leda ในเขต Teknaf เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเห็นกับตาว่าทหารเมียนมาโยนพี่ชายของเขาเข้าไปในบ้านของเขาที่กำลังลุกท่วมไปด้วยเปลวไฟ

"พวกทหารโยนพี่ชายฝาแฝดของผมเข้าไปในเพลิง พวกเขาไล่ฆ่าทุกคนด้วยไฟ" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว Malek และสมาชิกครอบครัวที่เหลือหนีรอดออกมาได้ด้วยการกระโดดลงไปในแม่น้ำ ซึ่งทหารเมียนมายิงกระสุนปืนไล่หลังพวกเขามาติดๆ

Zohur Ali วัย 12 ขวบ เด็กชายผู้ลี้ภัยจากค่าย Kutupalong เล่าประสบการณ์ที่พบเจอคล้ายๆกัน ทหารเมียนมากระชากน้องๆของเขาสองคนแล้วโยนเข้าไปในเปลวเพลิงที่ทหารจุดเผาบ้านของพวกเขา

Rahima Khatun วัย 35 ปี แม่ของ Zohur เล่าว่า ลูกชายของเธอร้องไห้ทุกครั้งที่หลับ และเธอไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงให้ลูกชายลืมเหตุการณ์เลวร้ายในวันนั้น

Nazim Uddin เด็กชายวัย 12 ขวบอีกราย ผู้ซึ่งแม่ของเขาเพิ่งจะเสียชีวิตไประหว่างคลอดน้อง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เล่าว่า เขาเห็นพ่อของเขาถูกรุมทำร้าย และจับกุมตัวไป โดยทหารเมียนมา ไม่กี่วันก่อนหน้าที่เขา และพี่น้องอีก 4 คน และคุณลูงจะตัดสินใจข้ามชายแดนมายังบังกลาเทศ ปัจจุบัน Md Yeasin วัย 2 ขวบ และ Umme Salma วัย 4 ขวบ พี่น้องของ Uddin ที่เขาอุ้มข้ามชายแดนมา ยังคงบอบช้ำจากสิ่งที่เกิดขึ้น

ตัวเลขล่าสุดจากสหประชาชาติประมาณจำนวนชาวโรฮิงญาที่อพยพเอาชีวิตรอดออกมาจากรัฐยะไข่ เข้ามาในบังกลาเทศอยู่ที่ราว 65,000 คน จำนวนนี้ยังไม่ได้รวมกับชาวโรฮิงญาอีก 300,000 คน ที่อพยพมายังค่ายผู้ลี้ภัย ในเขต Cox’s Bazar ซึ่งพวกเขาอพยพออกมาจากรัฐยะไข่ หลายปีก่อนหน้า

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับสำนักข่าวว่า การตรวจสอบจำนวนที่แท้จริงนั้น ทางเจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่จริง ปัจจุบันมีจำนวนชาวโรฮิงญาที่ลงทะเบียนเพียง 12,000 คนเท่านั้น และในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 5,000 คน

ด้านทางการบังกลาเทศ Ali Hossain รองผู้บัญชาการเขต Cox’s Bazar ระบุว่า ทางรัฐบาลยังไม่เคยนับจำนวนชาวโรฮิงญาทั้งหมดที่อพยพเข้ามา อย่างไรก็ตามนอกจากความช่วยเหลือด้านที่พักแล้ว รัฐบาลได้แจกจ่ายวิตามิน A ให้แก่เด็กๆที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพื่อป้องกันพวกเขาล้มป่วย

ใช่ว่าการเดินทางมาถึงค่ายผู้อพยพที่บังกลาเทศแล้วจะหมายถึงจุดสิ้นสุดของปัญหาทุกอย่าง ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาผู้ลี้ภัย จากมหาวิทยาลัยธากา ในบังกลาเทศให้ความเห็นว่า จิตใจของเด็กเหล่านี้ถูกทำลายลงจากการพบเจอประสบการณ์ที่โหดร้ายทารุณ พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเขารับการรักษา แต่ไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเหลือด้านนี้ อาหารไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่หล่อเลี้ยงให้พวกเขามีชีวิตรอดต่อไปได้

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่