สหรัฐลุยขจัดผู้อพยพผิดกฎหมาย

สหรัฐอเมริกา ออกแนวทางใหม่คุมเข้มผู้อพยพผิดกฎหมาย เล็งขยายการส่งกลับ-เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่

โพสต์ทูเดย์

วันพฤหัสบดี ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560, เวลา 09:59 น.

ภาพ เอเอฟพี

ภาพ เอเอฟพี

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ เปิดเผยแนวทางบังคับใช้กฎหมายควบคุมผู้อพยพที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งขยายการจับกุมและส่งกลับผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดราว 11 ล้านคน ในขณะนี้

แผนการใหม่ดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนคำสั่งเนรเทศอย่างเร่งรัด โดยจะพิจารณาส่งกลับบุคคลที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าอาศัยอยู่ในสหรัฐมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี รวมถึงผู้กระทำความผิดทางอาญาใดๆ ก็ตาม จากเดิมที่บังคับใช้กับผู้ไม่มีเอกสารซึ่งถูกจับตัวใกล้บริเวณชายแดนในระยะ 160 กิโลเมตร และอยู่ในสหรัฐไม่เกิน 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า แนวทางใหม่จะเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่น อีกทั้ง ระบุให้มีการจ้างเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองและศุลกากร (ไอซีอี) และหน่วยงานศุลกากรและตรวจรักษาความปลอดภัยชายแดน (ซีบีพี) เพิ่มขึ้น 1 หมื่นราย และ 5,000 ราย ตามลำดับ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการใช้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิมาปราบปรามผู้อพยพในสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แนวทางควบคุมผู้อพยพใหม่ดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งกีดกันพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมชั่วคราว ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซานฟรานซิสโก และศาลรัฐบาลกลางซีแอตเติลสั่งระงับ โดยแหล่งข่าวเกี่ยวข้องเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า แนวทางใหม่จะยังไม่มีผลบังคับในทันที เนื่องจากต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส ความเห็นจากสาธารณชน และต้องผ่านการเจรจากับประเทศต่างๆ ก่อน

และแนวทางใหม่จะไม่กระทบต่อนโยบายการยื่นขอผ่อนผันเพื่ออยู่ในประเทศชั่วคราว สำหรับการเข้าเมืองตั้งแต่ในวัยเด็ก (ดีเอซีเอ) ของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เมื่อปี 2012 ที่อนุญาตให้ "ดรีมเมอร์" หรือลูกของผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนราว 7.5 แสนคนในสหรัฐ ยื่นเรื่องขออาศัยอยู่ในประเทศต่อได้

ด้านสำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐ เปิดเผยผลวิจัยว่า การกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายทั้งหมด จะกระทบต่อตลาดแรงงานสหรัฐ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐสูญเงินไปถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 175 ล้านล้านบาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยผู้อพยพผิดกฎหมายอยู่ที่สัดส่วน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของภาคเอกชน และคิดเป็นมูลค่าการผลิตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 17 ล้านบาท)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่