เผยภาพถ่าย สะท้อนสงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

นิตยสารไทม์เผยแพร่ภาพถ่ายโดยช่างภาพท้องถิ่น ที่สะท้อนถึงผลกระทบจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของดูเตอร์เต

โพสต์ทูเดย์

วันจันทร์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560, เวลา 14:00 น.

ภาพของเหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นฉากเหตุการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาในฟิลิปปินส์ นับตั้งแต่โรดริโก ดูเตอร์เต ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และดำเนินการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด มีผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดถูกวิสามัญเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7,000 คน

จำนวนของผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งผลให้จำนวนของภาพข่าวจากเหตุการณ์เพิ่มขึ้นตามเช่นกัน นิตยสารได้รวบรวมภาพถ่ายผลกระทบจากนโยบายปราบปรามอันเข้มงวดนี้ จากช่างภาพท้องถิ่นมาเผยแพร่ให้ได้ชมกัน

ภาพถ่ายโดย Carlo Gabuco พร้อมกับคำบรรยายบางส่วนที่ว่า มันเป็นเหมือนกับวันฮาโลวีน เมื่อคน 5 คนถูกสังหารภายในบ้านหลังหนึ่ง ของเมือง Mandaluyong ชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงมะนิลา มันเป็นคืนที่รุนแรง และน่ากลัวสำหรับทุกคน รวมถึงตัวผมด้วย

บรรดาญาติของผู้เสียชีวิตถึงกับช็อค และไม่อาจสะกดกลั้นอารมณ์ได้ ผมบันทึกช่วงเวลานี้ไว้เนื่องจากสำหรับผม มันเป็นช่วงเวลาแตกสลายของครอบครัวมากที่สุด แม้จะเกิดเพียงระยะสั้นๆก็ตาม หลังจากนั้นสิ่งที่พวกเขากังวลต่อมาคือจะหาเงินที่ไหนมาทำพิธีศพให้แก่พวกเขา

ผมไม่รู้ว่าทำตัวเหมาะสมหรือไม่ แต่ผมพยายามที่จะบันทึกช่วงเวลานั้นเอาไว้ ช่วงเวลาที่ต้องเห็นคนที่เรารักจบชีวิตลงอย่างน่ากลัว ความรู้สึกระดับนั้นสำหรับผมมันเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจได้

ภาพนี้เป็นตัวแทนความน่ากลัวของ สงครามยาเสพติด และสิ่งที่ทิ้งไว้เบื้องหลังแก่บรรดาครอบครัวของผู้เสียชีวิต

ภาพถ่ายโดย Alecs Ongcal

กะกลางคืนมักจะเริ่มต้นตอนสี่ทุ่ม รถยนต์จอดเรียงรายเต็มลานจอด และบรรดานักข่าวพากันรวมที่หน้ากรมตำรวจในกรุงมะนิลา ในตอนนั้นฉันต้องแน่ใจว่าการบ้าน และการทบทวนบทเรียนของฉันเสร็จสิ้นแล้ว ตัวฉันเป็นนักศึกษาปริญญาตรี แต่การถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกของฉัน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตเริ่มต้นสงครามยาเสพติด

ทุกวันนี้เวลากลางคืนฉันจะรอโทรศัพท์ แต่ไม่ใช่จากเพื่อน แต่เป็นหน่วยสืบสวนคดีฆาตกรรม แสงไฟที่สาดส่องไม่ใช่ไฟจากงานปาร์ตี้ แต่เป็นไฟจากไซเรนบนรถตำรวจ และฉันได้ยินเสียงของคนเป็นแม่ที่ร้องไห้หลังเหตุการณ์เหล่านี้ บ่อยกว่าเสียงแม่ตัวเองอีก

ในหนึ่งคืนจะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 8 ราย ภาพดังกล่าวถูกถ่ายหลังฉันเดินออกมาจากร้านอาหาร Fast Food ในเมือง Pasay ช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืน ของวันที่ 17 พฤศจิกายน เราเห็นภาพเดิมๆ คนร้องไห้ คนยืนมุง และคำตอบเดิมๆของตำรวจขณะให้สัมภาษณ์ สิ่งเดียวที่แตกต่างออกไปคือใบหน้าของผู้ตาย ซึ่งบางครั้งฉันเองก็ริ่มคิดว่ามันเหมือนๆกันเข้าทุกที

การฆาตกรรมได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ชีวิตถูกใช้แล้วทิ้งไม่ต่างจากกระดาษแข็งห้อยศพที่บอกข้อมูลผู้ตาย เมื่อกลางคืนสิ้นสุดลง ฉันจะงีบหลับแล้วไปเข้าเรียนในตอนเช้า ซึ่งบางครั้งฉันลืมที่จะเปลี่ยนเสื้อ

เราพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวในคลาสเรียน แต่เมื่อเสียงกระดิ่งดังขึ้นทุกคนก็ลืม ถ้าเพียงแต่พวกเขารู้ว่าเสียงกรีดร้อง และเสียงร้องไห้ที่ฉันได้ยินทุกคืนมันดังกล่าวเสียงกระดิ่ง ถ้าเพียงแต่พวกเขารู้ว่าทางเท้าที่กำลังเดินเหยียบนั้น เคยมีรอยเลือดของคนที่ถูกแทง ถ้าเพียงแต่พวกเขารู้ว่าม้านั่งที่ตนกำลังนั่ง เป็นม้านั่งเดียวกันกับที่เด็กคนหนึ่งนั่งดูเจ้าหน้าที่ขนร่างพ่อของเขาไปโรงพยาบาล ถ้าพวกเขารู้ ว่าในขณะที่เรากำลังใช้เวลาในคลาสเรียน บางครอบครัวต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล แต่มันยาก เพราะสงครามยาเสพติดนั้นไม่เคยเดินทางมาถึงเรา

ภาพถ่ายโดย Basilio H. Sepe

มันเป็นครั้งแรกที่ผมถ่ายทอดสถานการณ์ในงานศพ Ronnel Jaraba วัย 30 ปี ถูกพบเห็นศพอยู่บนถนน C3 ของกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา รายงานจากครอบครัวระบุเขาเคยค้ายา แต่หยุดทุกอย่างเมื่อกลายเป็นพ่อของลูก 2 คน ต้องใช้เวลาถึง 11 วันกว่าจะได้จัดงานศพ เนื่องจากครอบครัวเขาไม่มีเงินมากนัก ภายในงานมีญาติเดินทางมาร่วมมากมาย แต่ความสนใจของผมไปหยุดอยู่ที่พ่อของเขา Renato

"มันต้องไม่เป็นลูกฉัน มันต้องไม่เป็นแบบนี้" เขาร้องไห้ และกรีดร้องด้วยความเสียใจ ญาติๆต้องพาตัวเขาออกไปเพื่อช่วยให้เขาสงบขึ้น ผมเองก็เพิ่งจะรู้ตัวเหมือนกันว่าตนเองร้องไห้ในขณะที่ถ่ายภาพนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบใจผมมาก ผมวางกล้องลงและเดินไปหาที่เงียบๆ เพื่อร้องไห้

ก่อนที่ผมจะออกจากงานไป ผมเจอกับ Renato อีกครั้ง เขาดูสงบลง แต่ยังเห็นน้ำตารื้นในดวงตา ผมกล่าวขอบคุณและสวดอธิษฐานให้เรื่องพวกนี้จบลง และในฐานะของช่างภาพข่าวผมถามตัวเองถึงสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำต่อกัน และความจริงที่เกิดขึ้นรอบตัว

ภาพถ่ายโดย Hannah Reyes Morales

ภาพนี้คือบรรยากาศในงานศพของ Jhay Lord ในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ตัวเขาถูกยิงพร้อมกับ Marlyn แฟนสาว เมื่อมีคนมาพบศพ สุนัขของเขาเองก็นั่งเฝ้าอยู่ตรงนั้นด้วย ครอบครัวของเขจัดพิธีศพ และสกรีนเสื้อใบหน้าของเขาพร้อมข้อความว่า "เราจะรักคุณ" "เราจะคิดถึงคุณ" และ "ความยุติธรรม"

เรื่องราวของ Lord เป็นประสบการณ์แรกของฉันที่เผชิญกับสงครามยาเสพติด ฉันช่วยรับบริจาคให้แก่ครอบครัวของเขา เนื่องจากเงินที่มีไม่อาจพอจัดงานศพได้ แต่การค้าก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป

Jenny Ann น้องสาวของเขาที่ทำงานอยู่ในตะวันออกกลางไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานศพได้ เลยตัดสินใจวิดีโอคอลผ่านเฟซบุ๊กมาแทน เธอแคปภาพพี่ชายในงานศพ และเขียนบนเฟซบุ๊กว่า "น่าเสียดายที่เราไม่มีภาพคู่กันเลย พี่ชายของฉัน แต่ใบหน้าของเธอจะไม่มีวันเลือนหายไปจากใจของฉัน นี่คือภาพเดียวที่ฉันมี และมันน่าละอายมากที่ออกมาเป็นแบบนี้"

ภาพถ่ายโดย Ezra Acayan

เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม ร่างของ Paul Lester Lorenzo และ Danny Laurente ถูกเข็นลากไปตามทางรถไฟ หลังทั้งคู่ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด

ชาวบ้านมักนิยมใช้ทางรถไฟในการเคลื่อนศพ เนื่องจากพวกเขาไม่อาจใช้บริการของรถพยาบาลได้ ตลอดเวลาที่ผมตามถ่ายภาพ ผมรู้สึกราวกับนี้ไม่ใช่โลกจริงๆ รถเข็นเหล่านี้ที่ถูกใช้งานในตอนกลางวัน แต่เมื่อยามกลางคืนกลับกลายเป็นสถานที่วางศพแทน

ผมตามถ่ายผู้เสียชีวิตมาแล้วกว่า 200 คน ตั้งแต่สงครามยาเสพติดเริ่มต้นขึ้น บรรยากาศรอบๆบ้านของผมเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อผมมีโอกาสได้ขับรถเดินทางไปรอบๆเมือง หลายสถานที่ชวนให้ผมนึกถึงเหตุสังหารในตอนนั้น

ชมภาพถ่ายอื่นๆต่อได้ที่นี่ http://time.com/philippines-rodrigo-duterte-drug-war-local-photographers/?xid=homepage

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่