กินยาพาราอย่างไรไม่ให้เสี่ยง

เวลาปวดหัว หรือเป็นไข้ สิ่งแรกที่คนเรานึกถึงก็ คือ “ยาพาราเซตามอล” ยาสามัญประจำบ้านที่เรา รู้จักดี แต่การกินยาทุกชนิดย่อมมีข้อจำกัด หากกิน มากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ยาพาราฯ กินให้ถูก ไม่เสี่ยงอันตราย

วันจันทร์ ที่ 26 ธันวาคม 2559, เวลา 17:34 น.

งานแถลงข่าว “เตือนภัยยาที่มีพิษต่อตับ” ที่จัดโดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มีการกล่าวถึง “ยาพาราเซตามอล” ว่าเป็นหนึ่งใน “ยาที่อันตรายต่อตับ” โดย ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็ง ภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ให้ข้อมูลว่า “พาราเซตามอล” เป็นยาเป็นยาลดไข้ที่ดีที่สุดที่ใช้ ในปัจจุบัน แต่อันตรายของการใช้พาราเซตามอล คือ การเป็นพิษต่อตับ (hepatotoxicity) ส่งผลตั้งแต่การ ทำงานของตับ ไปจนถึงภาวะตับวายอย่างเฉียบพลัน (acute liver failure) และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับเกิดจากการรับ ประทานยามากกว่าขนาดยาสูงสุดที่แนะนำต่อวัน ใช้ยาพาราเซตามอลให้ปลอดภัยต้องดูที่ขนาด ผศ.นพ.พิสนธิ์ แนะนำว่าควรกินตามนํ้าหนักตัว คูณ ด้วย 10 หรือ 15 จะได้ขนาดยาเป็นมิลลิกรัมที่เหมาะกับตัวเรา (แต่ต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง) เช่น หนัก 50 กิโลกรัม ขนาดยาที่เหมาะคือ 500 หรือ 750 มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับยา 1 เม็ด หรือ 1 เม็ด ครึ่ง (ถ้าตัวใหญ่ คูณนํ้าหนักแล้วเกิน 1,000 ก็กินได้ ไม่เกิน 2 เม็ด) ขนาดยาสูงสุดต่อวันสำหรับผู้ใหญ่

• ขนาดมาตรฐานทั่วไป ไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม โดยรวมถึงยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลอยู่ด้วยเช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาบรรเทาหวัด เป็นต้น

• สำหรับคนตัวเล็ก ควรไม่เกิน 3,000-3,250 มิลลิกรัม (เป็นค่าเพื่อความปลอดภัยที่สูงขึ้น)

• สำหรับผู้ที่ต้องกินต่อเนื่องระยะยาว ต้องอยู่ภาย ใต้การดูแลของแพทย์ไม่เกิน 2,500-2,600 มิลลิกรัม

• ผู้ป่วยโรคตับ หรือดื่มสุราเป็นประจำ ต้องกินไม่ เกิน 2,000 มิลลิกรัม

• สำหรับผู้ป่วยทีต้องรับยาวาร์ฟาริน (Warfarin) คือ ยาต้านทานการแข็งตัวของเลือด ที่ทางการแพทย์ใช้รักษาและป้องกันภาวะอุดตันของหลอดเลือด อันมีสาเหตุจากการทำงานของเกล็ดเลือดที่ผิดปกติ (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) ควรกินไม่เกินครั้งละ 1,300-1,500 มิลลิกรัม

ขนาดยาสูงสุดต่อวันสำหรับเด็กอายุ 0-12 ปี ไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หมายถึงคูณนํ้า หนักตัวเด็กด้วย 10 หรือ 15 คือมิลลิกรัมที่เหมาะ ต่อการป้อนยา 1 ครั้ง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง ควรอ่าน ฉลากให้เข้าใจเสมอว่ายาที่กำลังจะป้อนเด็ก 1 ช้อน ชาหรือ 5 ซีซี นั้น มีตัวยากี่มิลลิกรัม การบริโภคยาพาราฯ เกินขนาดจะไม่เห็นอาการในเร็ววัน จะเห็นก็ต่อเมื่อระยะอันตราย เป็นตับ อักเสบ ตับแข็ง และก่อให้เกิดมะเร็งตับแล้ว

ดังนั้น ควรใช้ยาเมื่อมีความจำเป็น เพิ่มความระมัดระวัง โดยการอ่านฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัดทุก ครั้งที่จะมีการใช้ยานะค่ะ ทั้งนี้ “ยา” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สสส.ให้ความสำคัญ จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง แผนงานสร้าง กลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เพราะยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ และเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการบริการสุขภาพ การมีหน่วยงานที่ช่วยติดตามเฝ้าระวัง และจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบยาจะสามารถลดความเสี่ยงและ ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่