ชาวเลร้องสิทธิ์ ผ่าน ’’วันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 13 โอบกอดฉันไว้ จนกว่าฯ’’

ภูเก็ต - วันนี้ (26 พ.ย. 2566) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พร้อมคณะเป็นประธานเปิดงาน ’วันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 13 โอบกอดฉันไว้จนกว่าจะเจอความยุติธรรม’ ณ ชุมชนชาวเลแหลมหลา หินลูกเดียว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันอาทิตย์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2566, เวลา 17:12 น.

โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผวจ. ภูเก็ต พร้อมด้วย นายศรัทธา ทองคำ รอง ผวจ. ภูเก็ตหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล การพัฒนาความร่วมมือในการฟื้นฟูวิถีชีวิตและการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ตลอดจนการประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเล โดยในงานมีพี่น้องเครือข่ายชาวเลอันดามัน กลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรหน่วยงาน ประชาสังคมนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วม โดยได้จัด 2 วันคือ วันที่ 25-26 พ.ย. 2566

ร้อยเอกธรรมนัส รมว. เกษตรและสหกรณ์และรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า รัซบาลพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในส่วนของกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดิน ด้านการศึกษาด้านสาธารณสุข การปรับสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย เช่นห้องน้ำห้องส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อให้กลุ่มชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นางสาวอรวรรณ หาญทะเล ผู้แทนคณะจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 13 กล่าวว่า "กลุ่มชาติพันธ์ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ทะเลอันดามันมากว่า 300 ปี มี 3 เผ่า คือ มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย พวกเราหาอยู่ทำกินแบบพอเพียงและพึ่งพิงธรรมชาติจำนวน 14,367 คน 46 ชุมชน กระจายใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล ถึงแม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เป็นแนวทางนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการในการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การผ่อนปรนการใช้เครื่องมือดั้งเดิมของชาวเล 17 ชนิด การเข้าถึงระบบสุขภาพ สิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐ การแก้ปัญหาสิทธิสถานะบุคคล การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวเล ภาษาวัฒนธรม ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ ท่ามกลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งทางทะเลและในเขตป่า ทำให้วิถีชีวิตของพวกเราชาวเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก"

นางสาวอรวรรณ กล่าวต่อว่า "แต่ก็ยังมีปัญหาข้อติดขัดหลายประการ ประการแรก ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มีชาวเลจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน มีข้อพิพาท 7 แห่ง 1,228 หลังคาเรือน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยและเข้าถึงบริการของรัฐ ประการที่สอง ปัญหาสุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ชายหาดริมทะเล 15 แห่ง ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาวะทางจิต ประการที่สาม ปัญหาที่ทำกินในทะเล ปัจจุบันมีการห้ามชาวเลไม่ให้เข้าไปหากินในที่ทำกินตั้งเดิมหรือ "ทะเลหมุนเวียน" ด้วยกฎหมายอนุรักษ์และนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลให้ชาวเลถูกจำกัดสิทธิ ถูกจับกุมคำเนินคดี ถูกยึดเรือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ"

"ประการที่สี่ ปัญหาสุขภาพ มาจากหลายประการ อาทิ ต้องดำน้ำลึกขึ้นทำให้หลายคนพิการ การเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ความยากจน ความห่างไกลสถานที่ให้บริการทางสาธารณสุข และไร้สิทธิสถานะทางทะเบียนเป็นต้น ประการที่ห้า การศึกษาเด็กเยาวชนชาวเล ได้รับโอกาสในการศึกษาน้อยและหลักสูตรไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประกอบกับปัญหาความยากจนทำให้ขาดทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการศึกษา"

"ประการที่หก สูญเสียความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมเพราะขาดการส่งเสริมที่ดี ประการที่เจ็ด การไร้สิทธิและสถานะบุคคลมีชาวเลกว่า 500 คนที่เป็นผู้ไร้สถานะทางทะเบียน ประการที่แปด ชาวเลเผชิญกับอคติชาติพันธุ์ของคนในสังคม ทำให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้ากระบวนการและขั้นตอนที่ซับซ้อน ประการที่เก้าการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะความยากจน ขาดความรู้ และมีความกลัวต่อปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มาจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว การประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐ และอคติชาติพันธุ์ ส่งผลให้เบียดบังวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวเลจนเป็นกลุ่มเปราะบางที่รัฐบาลสนับสนุน เพื่อรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกว่า 13 ปี"

"ปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์ชาวเล มีบางส่วนที่สามารถแก้ไขใด้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพยายามลงมือทำอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีปัญหาอีกมากที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้เพราะปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทำให้ไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือใช้มติคณะรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้มีเป้าประสงค์ที่สำคัญคือ การให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเข้าถึงความยุติธรรม มีสิทธิสถานะทางทะเบียน เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ และสร้างสุขภาวะที่ดีในชุมชนชาวเล พื้นที่คุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะเป็นแนวทางสำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล" นางอรวรรณกล่าวปิดท้าย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่