ช่อง 7 สี ยืนยันเก็บเงินค่าทางลงตามสิทธิ์ เก็บเฉพาะนทท.ไม่เก็บชาวบ้านและผู้ประกอบการ

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีชาวบ้านและผู้ประกอบการ ต.กมลา ร้องตรวจสอบลำรางสาธารณะ ทางลงหาด และที่ดินติดชายหาดแหลมสิงห์ของช่อง 7 สี นัดพูดคุยหาข้อยุติ

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 23 มีนาคม 2560, เวลา 17:30 น.

ภาพ เอกภพ ทองทับ

ภาพ เอกภพ ทองทับ

วันนี้ (23 มี.ค. 60) เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่ทางลงชายหาดแหลมสิง หมู่ที่ 3 ต.กมลา พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุฒิ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางเข้าพบชาวบ้านและผู้ประกอบการชายหาดหลายอาชีพหาดแหลมสิงห์ร่วม 100 คน ที่เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรม กรณีบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 ผู้อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินในบริเวณดังกล่าว มีการสร้างรั้วปิดกั้นเก็บเงินนทท.เดินผ่านลงหาดแหลมสิงห์หัวละ 100 บาท และยื่นคำขาดให้ผู้ประกอบการบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ของบริษัท ย้ายออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 7 เมษายน 2560 นี้ โดยทางชาวบ้านและผู้ประกอบการได้มีการชูป้ายข้อความทำนองเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ 3 ส่วนประกอบด้วย การออกเอกสารสิทธิ์ ลำรางสาธารณะ และการเก็บเงินประชาชนและนทท.

โดยหลังรับทราบปัญหาในเบื้องต้น พ.ต.อ.ดุษฎี พร้อมคณะได้ร่วมตรวจสอบบริเวณทางลงหาดและรั้วที่มีการปิดกั้น ซึ่งพบว่าในวันนี้มีนทท.ต่างชาติเดินทางลงไปใช้พื้นที่ค่อนข้างบางตา เมื่อนทท.เดินลงไปยังจุดที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ ห่างจากถนนไปประมาณ 100 เมตร ก็มีเจ้าหน้าที่คอยเก็บเงิน และออกตั๋วให้อยู่ตามปกติ และจุดทีชาวบ้านอ้างว่าเป็นลำรางสาธารณะที่มีตั้งแต่อดีต โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนายเสรี ลาภมาก รองนายก อบต.กมลา และผู้รับมอบอำนาจของบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล

จากนั้น พ.ต.อ.ดุษฎีได้นัดหมายให้มีการพูดคุยที่ห้องประชุม อบต. กมลา เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดประกอบด้วย ผู้ประกอบการชายหาด ประชาชน นายอำเภอกระทู้ นายกอบต. กมลา เพื่อหารือร่วมกัน

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ดุษฎีกล่าวในที่ประชุมว่า ตนเองซึ่งเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหาหลังได้รับร้องเรียน ได้ฟังข้อมูลมาหลายด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ก็ไม่ขอพูดถึงเนื่องจากอยู่ในกระบวนการของผู้เกี่ยวข้อง แต่ประเด็นในวันนี้คือทำอย่างไรที่จะสามารถพูดคุยตกลงกันได้และสามารถได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยจะให้ทั้งสองฝ่ายมีการเสนอข้อเรียกร้อง ซึ่งจะนำมาใช้แก้ปัญหาร่วมกัน

ซึ่งทางด้านผู้ประกอบการและชาวบ้านเสนอข้อเรียกร้องก่อน โดยตัวแทนผู้ประกอบการและชาวบ้านได้มีการร้องขอทางขึ้นลงชายหาดให้เป็นสาธารณะ รวมถึงขอใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดแหลมสิงห์ หลังจากบริษัทฯมีการปักป้ายดีเดย์ให้ออกจากพื้นที่ในวันที่ 7 เมษายน และอำเภอกะทู้มีการปักป้ายดีเดย์ให้ออกจากพื้นที่ ในวันที่ 17 เมษายน ทำให้ ผู้ประกอบการและลูกจ้างเกือบ 200 คน ไม่มีที่ประกอบอาชีพ ได้รับความเดือดร้อน

นายไพโรจน์ ธนากุลวินิจ ผู้รับมอบอำนาจบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 ระบุว่า ที่ดินดังกล่าว มีเนื้อที่รวมประมาณเนื้อที่ประมาณ 69 ไร่ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 6868, 6869, 7828, 7829 ซึ่งบริษัท ได้ซื้อต่อมาตั้งแต่ปี 2529 ก่อนที่ตนจะเข้ามาดูแล จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 31 ปีเศษ ซึ่งทางบริษัทไม่เคยเข้ามาทำประโยชน์ เนื่องจากทราบดีว่ามีประชาชนในพื้นที่ทำมากินจึงอลุ่มอล่วยให้ใช้พื้นที่ทั้งทางขึ้นลง และริมชายหาดสาธารณะ กระทั่งช่วงที่ตนเข้ามาดูแล ก็ได้พยายามเข้ามาพูดคุยกันกับคนในพื้นที่ และให้ใช้ประโยชน์กันต่อเนื่องมาอีกระยะ จนกระทั่งล่าสุดบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาที่ดิน จึงขอเจรจา กำหนดเวลาการอนุญาตและขอพื้นที่คืน แต่เมื่อพูดด้วยวาจาแล้วไม่เป็นผล จึง ได้ขอให้มีการทำสัญญากันที่ศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามยอม และให้บริษัทมีอำนาจในพื้นที่ตามกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายยินยอมเซ็นรับทราบโดยมีกำหนดเวลา 1 ปี 8 เดือน จะคืนพื้นที่ ซึ่งจะครบเวลาในวันที่ 7 เมษายนนี้ แต่เมื่อใกล้ครบเวลาที่กำหนดกลับมาร้องเรียน เรียกร้องขอให้ตรวจสอบในหลายเรื่อง ซึ่งทางบริษัทก็พร้อมให้ตรวจสอบ ยืนยันที่ผ่านมาทำถูกต้องเนื่องจากเป็นบริษัทที่ทีชื่อเสียง ไม่ยอมทำผิดกฎหมายแน่นอน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาถูกร้องเรียนหลายครั้ง จนหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ไปแล้วพบว่าถูกต้อง เหลือในส่วนลำรางสาธารณะที่มีการร้องให้ตรวจสอบนี้ ซึ่งทางบริษัทยินดีให้มีการตรวจสอบหากเป็นลำรางสาธารณะจริงก็ยินดีที่จะคืนให้เป็นสาธารณะแต่ถ้าไม่ใช่ ก็ขอว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทางบริษัทด้วยเพราะตามเอกสารครอบครองนั้นไม่ได้มีลำรางสาธารณะระบุไว้

นอกจากนี้เรื่องสาเหตุที่มีการกันพื้นที่นั้นบริษัทกระทำตามสิทธิ์ที่มีตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ใช้เส้นทางกระทำการที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น การลักลอบให้บริการบารากู่ ซึ่งทางบริษัทคิดว่าไม่อยากให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมายในพื้นที่จึงต้องมีการจ้างพนักงานมาดูแลความปลอดภัย ตรวจตราตรวจสอบการขนย้ายของขึ้นลงไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมาย เมื่อจ้างพนักงานมาดูแลความปลอดภัยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน เดือนละนับแสนบาท จึงต้องเก็บค่าเข้าหรือผ่านพื้นที่ รายละ 100 บาท ซึ่งเก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยบางส่วน ที่มาจากต่างจังหวัด ส่วนผู้ประกอบการ ชาวบ้าน ในพื้นที่ ไม่มีการเก็บแต่อย่างใด

ด้าน นายสายัณห์ ชนะชัยวงศ์ นายอำเภอกะทู้ ชี้แจงกรณี ที่อำเภอมีการปักป้ายให้ผู้ประกอบการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาชีพในวันที่ 17 เมษายนนี้ เป็นไปตามนโยบายจัดระเบียบของจังหวัดและคสช.หลังจากที่ผ่านมาได้เคยมีการกำหนดให้ผู้ประกอบการอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด 10 เปอร์เซ็นต์แต่มีการฝ่าฝืน ออกนอกพื้นที่กำหนด จึงยกเลิกและให้ไปอยู่ที่หาดกมลาแทน และมีการจัดสรรพื้นที่ให้แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งหมดอยู่ในการหารือ และก่อนเวลาที่กำหนด ทางผู้ประกอบการรายเดิมสามารถยื่นเสนอในที่ประชุมเพื่อให้จังหวัดพิจารณาใหม่ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ทางจังหวัดจะมีการประกาศชายหาดแหลมสิงห์เป็นชายหาดอนุรักษ์เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกด้วย
อย่างไรก็ตามหลังการหารือนั้น สรุปใจความได้ว่าทางบริษัทยืนยันจะให้มีการเก็บเงินค่าทางลงตามสิทธิ์ โดยเก็บเฉพาะนทท.ไม่มีการเก็บชาวบ้านในพื้นที่และผู้ประกอบการ ชาวบ้านและผู้ประกอบการสามารถใช้ทางขึ้นลงตามปกติ ส่วนการปักป้ายให้ออกจากพื้นที่ริมชายหาดตามประกาศกลับไปยังชายหาดพื้นที่สาธารณะนั้นต้องเป็นไปตามข้อตกลง แต่ต้องรอการยื่นข้อเสนอกับทางจังหวัด เพื่อขออยู่ในพื้นที่ชายหาดแหลมสิงห์ ไม่ต้องย้ายไปหาดกมลา

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่