นวัตกรรมส่องกล้อง ทางเลือกใหม่เพื่อผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรง

นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยได้ก้าวล้ำไปอีกขั้น

วันอาทิตย์ ที่ 19 มีนาคม 2560, เวลา 15:00 น.

เป็นที่น่ายินดียิ่งนัก เมื่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวประกาศข่าวดี

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประสบผลสำเร็จในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดเรื้อรังขั้นรุนแรงเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยลดปริมาณการกินยาและฉีดยาได้เป็นเวลานานถึง 5 ปี นับเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยปีละประมาณหลายแสนบาทต่อคน

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับนวัตกรรม ศ.นพ.สมเกียรติ วงษ์ทิม นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย พาไปแนะนำถึงโรคหืดก่อนว่า เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สารก่อภูมิแพ้ ทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นตลอดเวลา การกระตุ้นของสารเคมี ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอและหายใจไม่สะดวกจากหลอดลมตีบจากการอักเสบ

หลังจากผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืดมากขึ้น ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การอักเสบเรื้อรังของหลอดลมนี้อาจนำไปสู่การเกิดพังผืด และการหนาตัวอย่างมากของผนังหลอดลมที่เรียกว่ามีภาวะ Airway Remodeling เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวร

ปัจจุบันโรคหืดถือเป็นปัญหาสาธารณสุขอย่างหนึ่งของประเทศไทย

ในปี 2545 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหอบรุนแรงมากถึง 102,245 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนราย ต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินด้วยอาการหอบเฉียบพลัน

ที่ผ่านมาวิธีการที่จะควบคุมอาการของโรคในผู้ป่วยให้ได้ดีที่สุด คือการใช้ยาในกลุ่มควบคุมอาการ เพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในหลอดลมร่วมกับการใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการ แต่ในวันนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้นำนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยรักษาโรคหืดขั้นรุนแรง นับเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อสาธารณสุขของประเทศไทย

นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ แห่งหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ทางเลือกใหม่ในการรักษานี้จะใช้วิธีจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial Thermoplasty) ข้อดีคือคนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ไม่เหนื่อยหอบ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลบ่อย

ที่สำคัญ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาตัวของคนไข้เอง และประหยัดงบประมาณของประเทศ

สำหรับกลไกการรักษา เริ่มต้นด้วยการใส่สายแคสเตเตอร์หย่อนลงไปผ่านหลอดลมเข้าไปในปอด ที่มีขนาดความกว้าง 2-3 มิลลิเมตร เซ็นเซอร์จะเปลี่ยนจากคลื่นวิทยุเป็นความร้อนที่ 65 องศา และจี้เข้าไปที่หลอดลมส่วนปลายเพื่อทำลายกล้ามเนื้อเรียบให้บางลงไม่ให้หลอดลมตีบ

การจี้แต่ละจุดใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในการทำ 1 ครั้ง จะต้องจี้ให้ได้ 100 จุด จุดละ 10 วินาที หรือมากที่สุดในบริเวณปอดล่างขวา ปอดล่างซ้าย และปอดด้านบนสองข้าง ทำทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 สัปดาห์

ทั้งนี้ จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้ว การจี้กล้ามเนื้อเรียบทำให้โรคหืดสามารถควบคุมได้ ลดอาการกำเริบได้นานถึง 5 ปี ไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยและปอดไม่ถูกทำลาย ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแห่งที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองมาจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดด้วยวิธีการนี้

วิธีการจี้กล้ามเนื้อเรียบจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดที่มีภาวะรุนแรงที่มีความจำเป็นในการพ่นยา กินยา และฉีดยาสเตียรอยด์ในปริมาณที่มากและต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับตัวผู้ป่วยแม้แต่น้อย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่