พลังผลักดันจากรั้วของชาติ

ภูเก็ต - คสช. สั่งทหารให้ฟื้นภูเก็ตกลับมาเป็น “ไข่มุกอันดามัน” เม็ดงามเม็ดเดิม

เปรมกมล เกษรา

วันเสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2560, เวลา 15:00 น.

หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวภูเก็ตอาจสังเกตได้ว่าบนเกาะของเรานั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากมาย ตั้งแต่การทวงคืนพื้นที่จอดรถสาธารณะบริเวณถนนเลียบหาดป่าตอง (ถ.ทวีวงษ์) จากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรถเช่าที่ยึดครองพื้นที่ดังกล่าวเพื่อใช้จอดรถที่ตนเปิดให้เช่าจนเต็มพื้นที่ หรือกรณีบุกจับผ่อนพนันแหล่งใหญ่ใน อ.เมืองภูเก็ตที่ส่งผลให้นายตำรวจใหญ่ 3 นายในสภ.เมืองภูเก็ต ประกอบด้วย ผกก. สภ.เมืองภูเก็ต และ รองผกก.สภ.เมืองภูเก็ต อีก 2 นาย ได้รับคำสั่งให้ขาดจากตำแหน่งเดิม ล่าสุดมีการบุกจับกุมสถานบันเทิงโชว์ลามกอนาจารกลางเมืองป่าตอง

หากเราสังเกตที่มาที่ไปในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหลายเดือนมานี้ จะพบได้ว่ากลุ่มที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงและการจับกุมการกระทำผิดกฎหมายนั้นมี “ทหาร” คอยควบคุมอยู่แทบทั้งสิ้น

พ.อ.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 25 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปกติแล้วจะดูแลพื้นที่จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ระนอง กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ผมมาประจำการที่จ.ภูเก็ตเพื่อดูแลปัญหาต่างๆ เนื่องจากทาง คสช. ได้รับข้อร้องเรียนในแง่ลบจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมากพอสมควร จากที่อดีตภูเก็ตคือไข่มุกอันดามัน แต่ตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการบางคนก็ประพฤติตนไม่เหมาะสมและทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ”

“มีปัญหาอยู่ 3 ประเด็นที่ คสช.มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ ได้แก่ เรื่องการจัดระเบียบแท็กซี่สนามบิน การจัดระเบียบชายหาด และการจัดระเบียบที่จอดรถสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดสำหรับปัญหาทั้ง 3 เรื่องไว้แล้วโดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละท่านเป็นหัวหน้าคณะส่วนกำลังทางทหารมีหน้าที่ผลักดันและต่อจากหน้า 1
...สนับสนุนในส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้การแก้ไขปัญหาเป็นผลสำเร็จ โดยที่ผ่าน
มาได้ประชุมหารือกับหน่วยงานราชการต่างๆ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธร นายอำเภอ เทศบาล และหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เพื่อร่วมมือกันหารือว่า ณ ตอนนี้ในจังหวัดนั้นเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน แต่ทางกำลังพลทางทหารมีหน้าที่เพียงแค่สนับสนุน หรือผลักดันการแก้ไขปัญหาให้เป็นผลสำเร็จ”

“ปัญหาแรกคือเรื่องภาพรวมของระบบแท็กซี่สนามบิน ซึ่ง คสช.มองเห็นว่ายังขาดระเบียบวินัยและความเหมาะสมอยู่มาก เริ่มตั้งแต่นักท่องเที่ยวลงเครื่องมา ก็จะมีการแย่งชิงนักท่องเที่ยว ระบบต่างๆที่เคยมีก็ไม่ปฏิบัติตามจึงทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองภูเก็ตเสียหาย ทางจังหวัดภูเก็ตจึงได้แต่งตั้ง นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อจัดระเบียบปัญหาดังกล่าว โดยมีนายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผอ.ท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นเลขา โดยเริ่มจากการจัดระเบียบการแต่งกาย ทางขนส่งจังหวัดได้จัดหาผู้สนับสนุนเสื้อเครื่องแบบให้คนขับสาธารณะจำนวน 10,000 ตัว เพื่อจะได้มีเครื่องแบบที่เหมือนกันครอบคลุมหมดทั้งจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเราจะให้คนขับเข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับเสื้อ และทางคณะทำงานเองก็จะได้ถือโอกาสเก็บข้อมูลด้านพนักงานขับรถด้วย เพราะในขั้นตอนการลงะเบียนนั้นจะต้องใช้เอกสารต่างๆอย่างละเอียดเพื่อจะได้ยืนยันว่าเป็นคนขับรถรับจ้างสาธารณะอย่างถูกกฎหมายและที่สำคัญคือป้องกันปัญหาแท็กซี่ผีที่แฝงตัวมารับนักท่องเที่ยวด้วยในสนามบินด้วย”

“ปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นภายในสนามบินที่กำลังจัดระเบียบก็คือปัญหาการตรวจคนเข้าเมือง เพราะได้รับการร้องเรียนมาว่าจะต้องต่อคิวนาน ก็จะต้องจัดระบบใหม่ เพิ่มช่องทางการตรวจคนเข้าเมืองทั้งขาเข้าและขาออก นอกจากนี้ก็มีการวางมาตรการด้านความปลอดภัยบริเวณสนามบิน เพราะเราเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการก่อเหตุในสนามบินจากผู้ไม่หวังดี ถ้าหากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งจังหวัดแน่นอน ซึ่งเราต้องดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจอดรถในพื้นที่สนามบินหรือการจอดรถใกล้คลังน้ำมันและเรื่องอื่นๆซึ่งตอนนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80%”

“ประเด็นต่อมาคือการจัดระเบียบชายหาด สังเกตได้ว่าเมื่อก่อนนั้นบริเวณชายหาดต่างๆจะมีเตียงร่มผ้าใบของผู้ประกอบการต่างๆ ตั้งเรียงรายจนเต็มพื้นที่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อชมทัศนียภาพชายหาดป่าตองก็ลงไม่ได้ เนื่องจากชายหาดเต็มไปด้วยร่มและเตียงจนไม่มีพื้นที่ว่างให้นักท่องเที่ยว และมีการหารายได้จากตรงนี้มากพอสมควร ซึ่งคณะทำงานที่จัดการเรื่องนี้จะมีรองผู้ว่าราชการธีระ อนันตเสรีวิทยา เป็นประธานและนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว ปลัดจังหวัดเป็นเลขาฯ เราต้องยอมรับว่าปัญหาเตียงร่มผ้าใบนั้นเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานมากเนื่องจากเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่อนุโลมให้ชาวบ้านได้จับจองพื้นที่บนชายหาดในการประกอบธุรกิจเมื่อนานมาแล้ว ที่ผ่านมาเราได้จัดตั้งกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวขึ้นมาและให้มาลงทะเบียนและอนุญาตให้พื้นที่ 10% ของชายหาดให้เป็นพื้นที่ทำมาหากินได้ และได้จัดระเบียบความสวยงามเพื่อเสริมภาพลักษณ์ด้วย ร่มจะต้องสีเหมือนกันและวางอย่างมีระเบียบ หากมองจากภาพมุมสูงจะสวยมาก เจ้าหน้าที่ของรัฐก็พึงพอใจเพราะผลที่ออกมานั้นอยู่ในกรอบของการจัดระเบียบ และที่สำคัญผู้ประกอบการทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลความสะอาดของชายหาดและต้องช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวด้วย ห้ามมีการข่มขู่หรือฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าใดๆทั้งสิ้น และจะต้องไม่มีการหาบเร่ขายของบริเวณชายหาดเด็ดขาด”
“ในตอนนี้เรากำลังดำเนินการผลักดันให้ธุรกิจนี้เกิดประโยชน์ต่อประเทศด้วยการเก็บรายได้ส่วนหนึ่งเข้ารัฐด้วยเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกฝ่าย คล้ายกับการให้เอกชนเช่าพื้นที่ของรัฐในการประกอบธุรกิจ โดยให้เทศบาลเป็นแม่บทเพราะเป็นหน่วยงานหลักในการเก็บภาษี”

“และเรื่องรถรับจ้างรถสาธารณะและธุรกิจรถเช่า ที่ยึดพื้นที่จอดรถตามริมถนนต่างๆในพื้นที่สาธาณะ เรื่องนี้กระทบโดยตรงไปยังนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเพราะว่าไม่มีพื้นที่เหลือให้นักท่องเที่ยวได้จอดรถเพื่อที่จะไปชมชายหาดต่างๆเพราะรถเช่ามาจอดเต็มไปหมด คณะทำงานในด้านนี้มีนางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ขนส่งจังหวัดเป็นเลขาฯ ในช่วงแรกเราได้แจ้งล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการได้ทราบว่าการที่จะเปิดรถเช่านั้นจะต้องมีที่จอดรถส่วนตัว ห้ามมาใช้พื้นที่สาธารณะในการจอด และให้เวลา 15 วันก่อนที่จะเริ่มจัดระเบียบอย่างจริงจัง ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือดี นอกจากนี้ทหารก็ได้จัดเวรเดินสำรวจตรวจตราถนนทวีวงษ์ทั้งกลางวันและกลางคืนทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครฉวยโอกาสยึดพื้นที่สาธารณะจอดรถเช่า แต่ทางผู้ประกอบการได้ร้องขอมาว่าต้องการทำประชาสัมพันธ์ธุรกิจรถเช่าด้วยการยืนถือป้ายโฆษณา เราก็อนุญาตให้ยืนได้เพียง 3 จุดเพื่อความเป็นระเบียบ โดยการดูแลเรื่องนี้ได้ทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เช่นทางจังหวัด ทหาร ตำรวจ เทศบาล และเทศกิจ”

“ในด้านปัญหาการยึดครองพื้นที่จอดรถจากรถรับจ้างสาธารณะนั้น ตอนนี้เราได้แก้ปัญหาโดยกำหนดจุดจอดจำนวน 84 จุดทั่วภูเก็ตเพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการจอด โดยในส่วนป่าตองเราจัดสรรจุดจอดให้ 21 จุด แต่ได้รับการร้องขอจากกลุ่มคนขับรถรับจ้างฯจากป่าตองว่าจุดจอดที่จัดให้นั้นไม่เพียงพอ เบื้องต้นแล้วทางผู้ว่าฯยังไม่อนุญาต แต่อยากให้ลองใช้จุดจอดที่กำหนดให้ไปก่อน ถ้าหากว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาก็ค่อยหาสาเหตุและหามาตรการอื่นในการจัดการต่อไป ซึ่งวันเริ่มการบังคับใช้มาตรการกำหนดจุดจอดนั้นได้ถูกเลื่อนจากวันที่ 1 มิ.ย.มาเป็น 15 มิ.ย. แต่ยังคงต้องเลื่อนออกไปอีกเพราะในขณะนี้ทางขนส่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเปิดให้ผู้ขับรถรับจ้างฯมาลงทะเบียนเพื่อรับที่จอดตามจุดต่างๆเพื่อทางขนส่งเองจะได้จัดสรรที่จอดอย่างเหมาะสมไปตามสภาพจุดจอดต่างๆและเพื่อรวบรวมข้อมูลว่าใครจอดรถจุดใด ซึ่งที่ผ่านมามีคนมาลงทะเบียนกว่า 100 รายแล้ว”

“ทั้งนี้ คณะทำงานทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันโดยที่มีทหารเป็นหน่วยผลักดัน แต่ไม่ใช่การสั่งการ เราต้องดูกรอบนโยบายของจังหวัดภูเก็ตที่ได้วางไว้ก่อนหน้านั้นว่าเป็นแบบใด มีระบบการจัดระเบียบอย่างไร รวมทั้งบริบทในภาพรวมต่างๆ เราเข้ามาเพราะต้องการให้ระบบเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการที่ทหารเข้ามาช่วยจัดการปัญหาต่างๆ นั้นก็เพื่อแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังสะสมหลายประเด็น เกิดเป็นความซับซ้อนหยั่งรากลงลึกมาช้านาน จนแตกแขนงไปเป็นปัญหาอื่นให้หมดสิ้นไป จากนั้นก็ผลักดันจังหวัดภูเก็ตให้ก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและคนไทยทุกคน” พ.อ.ศานติ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่