ม.ราชภัฏภูเก็ตจัดเสวนา LGBTQ+ เปิดให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับปริญญาบัตร

ภูเก็ต - สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดโครงการเสวนาไขภาษากับไทยศิลปะศาสตร์ ’มองมุมกลับ ปรับมุมมอง LGBTQ+ กับการแสดงตัวตนผ่านภาษาท่ามกลางกระแสความเสมอภาค’

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันจันทร์ ที่ 2 ตุลาคม 2566, เวลา 13:54 น.

วันนี้ (2 ต.ค. 66) ที่ห้องประชุมแคแสด อาคารเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผศ.ดร.ธวัชชัย ทุมทอง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการเสวนาไขภาษากับไทยศิลปศาสตร์ "มองมุมกลับ ปรับมุมมอง LGBTQ+ กับการแสดงตัวตนผ่านภาษาท่ามกลางกระแสความเสมอภาค" ซึ่งสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดขึ้นเพื่อให้นักวิชาการ อินฟลูเอนเซอร์ ศิษย์เก่า นักศึกษา และกลุ่ม LGBTQ+ ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริง โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินงานหลัก ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “LGBTQ + กับการเรียกร้องความเสมอภาคผ่านกลวิธีการใช้ภาษาในเพจ Young Pride Club" เรื่อง "มาตาลดากับการนำเสนอตัวตนของตัวละครในครอบครัว LGBTQ + ผ่านซีรีย์" และเรื่อง "กลวิธีการใช้ภาษาในการเรียกร้องความเสมอภาคของกลุ่ม LGBTQ + ในสื่อใหม่" จนนำมาสู่การจัดโครงการเสวนาในครั้งนี้

ผศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า ความเท่าเทียมทางเพศมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมีหลายมุมมองจากองค์การสหประชาชาติ ขณะเดียวกันนักศึกษาได้มีการนำมาปรับใช้สำหรับการศึกษาโดยผ่านการวิจัยของนักศึกษาได้มาสะท้อนมุมมองของสังคม ซึ่งในปีนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพในการเข้ารับปริญญาบัตร เพื่อความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย พร้อมทั้งชื่นชมนักศึกษาวิชาภาษาไทยที่ได้มีการจัดงานนี้เพราะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับประสบการณ์ตรงที่เป็นประโยชน์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน เกี่ยวกับการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะประเด็นการใช้ภาษา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้คนในสังคม ได้เคารพในสิทธิของบุคคลทุกกลุ่มทุกเพศ อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริง

นายสุทธิญาณ์ ธนทรัพย์เกษม ในนามประธานโครงการกล่าวว่า ยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน ทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มีบทบาทมากขึ้น การศึกษาการใช้ภาษาของกลุ่ม LGBTQ+ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำความเข้าใจกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาการใช้ภาษาในการเรียกร้องความเสมอภาคในสื่อสังคมออนไลน์ ที่พบการใช้คำศัพท์ การใช้ประโยคหรือการเล่าเรื่องเพื่อแสดงตัวตนผ่านการใช้ภาษาในรูปแบบต่าง ๆ ที่สะท้อนแนวคิดของตนเองได้อย่างมีอิสระ

ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่