สภาอังกฤษไฟเขียวถอนตัวจากอียู

สภาสูงของอังกฤษมีมติผ่านร่างกฏหมาย Brexit แล้ว ส่งผลให้เทเรซา เมย์นายกรัฐมนตรีของอังกฤษสามารถเริ่มต้นกระบวนการถอนสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียูได้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามร่างกฏหมายดังกล่าวยังคงต้องส่งมอบให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ลงพระปรมาภิไธย เพื่อให้กฏหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้

โพสต์ทูเดย์

วันเสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2560, เวลา 16:00 น.

"รัฐสภาได้สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษในการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู ขณะนี้เราอยู่ในช่วงของการเจรจาที่สำคัญที่สุดในยุคของเรา" รัฐมนตรี David Davis กล่าว "เราจะเริ่มใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนเพื่อเริ่มกระบวนการถอนตัวในสิ้นเดือนนี้ ตามแผนที่วางไว้ เพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ทั้งสหราชอาณาจักร"

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรลงประชามติครั้งใหญ่ว่าสหราชอาณาจักรควรออกจากการเป็นสมาชิกของอียูหรือไม่ ผลปรากฏ 51.9% โหวตให้ออกจากการเป็นสมาชิก เดวิด คาแมรอนอดีตนายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง และอังกฤษได้นายกคนใหม่คือเทเรซา เมย์ ซึ่งระบุว่ากระบวนการเจรจาออกจากอียูนั้นจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

โดยเมย์ระบุว่าเธอจะจัดลำดับความสำคัญของเรื่องในการเจรจา ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่เป็นกังวลก็คือปัญหาผู้อพยพ ด้านนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ออกมาเรียกร้องให้จัดการลงประชามติรอบที่ 2 เพื่อแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหราชอาณาจักร เมื่ออังกฤษเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวอย่างเป็นทางการ

แม้ว่าผลคะแนนรวมทั้งสหราชอาณาจักร คะแนนเสียงโหวตให้ออกจากอียูจะมากกว่าคะแนนที่โหวตให้อยู่ต่อก็ตาม แต่หากพิจารณาแยกเป็นส่วนๆจะพบว่า คะแนนโหวตให้ออกนั้นส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ และเวลส์ ในขณะที่คนสกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือนั้นเลือกโหวตให้อยู่เป็นสมาชิกต่อไป 

ในขณะเดียวกันทางสหภาพยุโรปเองระบุว่ากระบวนการถอนตัวทั้งหมดของอังกฤษจำเป็นต้องเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี ก่อนที่การเจรจาครั้งใหม่ของอียูจะเริ่มต้นขึ้น และเจ้าหน้าที่บางคนเรียกร้องให้กรุงลอนดอนชำระค่าสมาชิกสหภาพยุโรป ประมาณ 60,000 ล้านยูโร 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่