เทศบาลนครภูเก็ตชี้แจง ประเด็นปิดพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ หลังเปิดไม่กี่วัน

ภูเก็ต – วานนี้ เทศบาลนครภูเก็ตได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชี้แจงประเด็นที่มีการพูดถึงและถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ในเรื่องที่ว่า ทำไมเมื่อมีการเปิดพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ เมื่อวันพุธ ที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ประชาชนไม่สามารถเข้าชมได้

ข่าวภูเก็ต

วันศุกร์ ที่ 26 พฤษภาคม 2560, เวลา 09:57 น.

โดยทางเทศบาลนครภูเก็ต ได้ชี้แจงว่า การเปิดพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ ในวันพุธที่ผ่านมานั้น เทศบาลฯ ได้รับความร่วมมือจากสมาคมเพอรานากัน และลูกหลานบาบ๋า ได้เห็นถึงความสำคัญ และรู้สึกปลื้มปิติที่พระองค์ท่านทรงเสด็จมาเปิดอาคารฯ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

จึงมีความปรารถนาที่จะให้พระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรเครื่องประดับ เสื้อผ้า และสิ่งของ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ จึงได้รวบรวมนำมาเสริมเพิ่มเติมจากห้องนิทรรศการที่มีอยู่ ซึ่งภายหลังมีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์แล้ว สมาคมเพอรานากัน จะต้องรวบรวมเครื่องประดับและสิ่งของดังกล่าวส่งคืนเจ้าของ ดังนั้น ในระหว่างนี้ เทศบาลฯ จึงจำเป็นต้องดูแลรักษาความปลอดภัยเครื่องประดับและสิ่งของที่ร่วมจัดแสดงระหว่างการส่งคืนเจ้าของ จึงมีความจำเป็นต้องปิดพิพิธภัณฑ์เป็นการชั่วคราว

อีกทั้ง ในระหว่างพิธีเปิดมีสิ่งของที่ใช้ในพิธี เช่น ดอกไม้ เครื่องเสียง และวัสดุตกแต่งอื่นๆ ที่ผู้รับจ้างจะต้องขนย้ายออกไป ซึ่งหากเปิดพิพิธภัณฑ์ระหว่างมีการขนย้าย อาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกและอาจได้รับอันตรายได้ เทศบาลนครภูเก็ต ได้ตระหนักถึงเหตุผลดังกล่าว จึงเลื่อนวันเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ

อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลฯ ก็ย้ำว่ามิได้นิ่งนอนใจ และจะได้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อเปิดพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ ให้ประชาชนได้เข้าชม

และในกรณีที่มีการกล่าวถึงว่าพิพิธภัณฑ์มีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีสิ่งของจัดแสดงนั้น ทางเทศบาลฯ ได้ชี้แจงว่า ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีเรื่องราวและสิ่งของที่พร้อมจัดแสดงอยู่แล้ว โดยชั้นล่าง เป็นห้องโถงกว้าง เป็นสถานที่จัดแสดงพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปี

ในส่วนของชั้น2 ประกอบด้วย 5 สถานีจัดแสดง ห้องข้อมูล และห้องปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยทั้ง 5 ห้อง จัดแสดงโชว์ในระบบมัลติมีเดีย

ห้องที่ 1สงครามเมืองจีน แสดงถึง ชีวิตของเด็กชายชาวจีนที่เดินทางมากับอาก๋ง เพื่อเผชิญโชคในแผ่นดินใหม่
ห้องที่ 2 กำเนิดเมืองทุ่งคา แสดงถึง ชีวิตกำพร้าของเด็กชายที่ได้รับการอุปถัมภ์โดยคนท้องถิ่นเมื่อเติบโต แต่งงานกับสาวไทย ลูกมีเชื้อสายเพอรานากัน
ห้องที่ 3 ฉิ่มแจ้ แสดงถึง บ่อน้ำภายในบ้านที่อยู่บริเวณกลางบ้าน
ห้องที่ 4 ชุดเสื้อผ้าบ่าบ๋า แสดงถึง การพัฒนาชุดเสื้อผ้า หุ่นสายแสดง การสืบทอดวัฒนธรรมในครอบครัวสู่คนรุ่นหลัง
ห้องที่ 5 ห้องอาหารบ่าบ๋า แสดงถึง อาหารมงคลในพิธีวิวาห์

ทั้งนี้ ในส่วนของอาคารสถานีตำรวจ เป็นอาคารสำหรับให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยว เทศบาลนครภูเก็ต ยังคงเปิดให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ท่านสามารถเข้าชมและสอบถามรายละเอียดของการท่องเที่ยวได้ในวันและเวลาราชการ สำหรับอาคารธนาคารชาร์เตอร์ เทศบาลนครภูเก็ต ต้องขออภัยและจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ หากเปิดให้พี่น้องประชาชนเข้าชมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานส่งเสริมการท่องเที่ยว สำนักปลัด เทศบาลนครภูเก็ต 0-7621-4304

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่