เรือประมงไทยช่วยเหลือลูกเรือเมียนมาเรือแตก 14 ราย

ภูเก็ต - เรือประมง อ.อรุณสมุทร 5 เข้าทำการช่วยเหลือลูกเรือไว้ได้ทั้งหมดจำนวน 14 คน เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ และเดินทางกลับมาถึงภูเก็ตพร้อมผู้ประสบภัย อย่างปลอดภัย

ข่าวภูเก็ต

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม 2560, เวลา 09:29 น.

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.60 เวลา 17.00 น. นายสุรัฐ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ได้รับแจ้งว่ามีเหตุสินค้าสัญชาติเมียนมาจมบริเวณทิศใต้ของเกาะราชาน้อย โดยมีเรือประมง อ.อรุณสมุทร 5 เข้าทำการช่วยเหลือลูกเรือไว้ได้ทั้งหมดจำนวน 14 คน

ทั้งนี้ เรือประมง อ.อรุณสมุทร 5 ได้เดินทางกลับถึงภูเก็ตพร้อมกับผู้ประสบภัยเรียบร้อยแล้ว ในวันนี้ 25 พ.ค.60 เวลา 3.00 น.

นายสุรัฐ เปิดเผยว่า จากการสอบถามทราบว่า เรือสินค้าชื่อ AUNG SEIN MYAT สัญชาติเมียนมา บรรทุกสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เดินทางออกจากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.60 มีกำหนดถึงปลายทางเมืองมะริด ประเทศเมียนมาในวันที่ 27 พ.ค.60 ระหว่างเดินทางถึงที่เกิดเหตุได้ถูกคลื่นขนาดใหญ่ซัดจนเปลือกเรือซึ่งเป็นไม้ แตกเป็นรูขนาดใหญ่ ทำให้น้ำทะเลเข้าเรือ เครื่องสูบน้ำไม่สามารถสูบน้ำออกได้ จนเรือใกล้จม กัปตันเรือได้สั่งการให้ลูกเรือทั้งหมด 14 คน สละเรือโดยใช้เรือช่วยชีวิต ต่อมาได้มีเรือประมง อ.อรุณสมุทร 5 ได้เข้าทำการช่วยเหลือ และนำผู้ประสบภัยจำนวน 14 คน กลับถึงภูเก็ตอย่างปลอดภัย

เรือ อ.อรุณสมุทร 5 ทะเบียนเรือ 319000159 ไต๋เรือชื่อ นายชนะ กรมสกุลณีย์ เป็นเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ขณะทำการประมงอยู่บริเวณ แลต7'18 ลอง 98'35 ได้พบเรือ Aung Sein Myat ขนาดเรือขนาด 176.97 ตันกรอสซึ่งกำลังอับปาง ช่วงเวลาประมาณ 16:00 น.และเข้าให้การช่วยเหลือ ซึ่งในเรือลำดังกล่าวมีคนประจำเรือทั้งสิ้น 14 คน ช่วยเหลือได้ทั้งหมด

เบื้องต้นทราบว่าเป็นเรือสัญชาติ เมียนมาร์เดินทางมาจากเมืองท่ามะริด เมียนมาร์ เมื่อวันที่ 2/5/60 ไปยังไประเทศมาเลเซีย เพื่อนับสินค้าประเภท น้ำมันปาล์ม ขนม ถุงมือ ปูนซีเมนต์ ฯลฯออกจากมาเลเซียเมื่อวันที่ 18/5/60 กำลังกลับไปเมืองมะริด เมียนมาร์ แต่ประสบคลื่นลมจนอับปางก่อน เนื่องจากเรือได้ปะทะคลื่นขนาดใหญ่ จนแผ่นไม้ท้องเรือได้หลุดทำให้น้ำเข้าตัวเรือจนอับปางลง

ด้านนายสุรัฐ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบมูลค่าความเสียหายเนื่องจากเป็นเรือต่างประเทศ โดยสินค้าจำนวนมากลอยและบางส่วนจมลงสู่ทะเล ซึ่งจะต้องประสานไปยังสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สบทช.6) เพื่อดูผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนการเก็บกู้นั้นต้องรอให้บริษัทเรือซึ่งอยู่ในต่างประเทศติดต่อกลับมาก่อน ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าท่าฯยังไม่ได้รับการประสานจากบริษัทเรือแต่อย่างใด

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่