เออร์โดกันอ้าแขนรับชัยชนะ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจประธานาธิบดี

ผลการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 51.3% โหวตสนับสนุน ใช้ระบบอำนาจแบบประธานาธิบดีแทนรัฐสภา

โพสต์ทูเดย์

วันจันทร์ ที่ 17 เมษายน 2560, เวลา 11:52 น.

ภาพ โพสต์ทูเดย์

ภาพ โพสต์ทูเดย์

ประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกันประกาศชัยชนะหลังผลการลงประชามติ เสียงส่วนใหญ่โหวต Yes ให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของตุรกี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจบริหารให้แก่ประธานาธิบดีมากยิ่งขึ้น

ผลการลงประชามติประชาชนชาวตุรกี 51.3% โหวตสนับสนุน ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้ระบบอำนาจแบบประธานาธิบดี แทนระบบรัฐสภาที่มีอยู่เดิม ในขณะที่จำนวนผู้โหวตไม่สนับสนุนนั้นคิดเป็นสัดส่วน 48.7 %

"เราถูกโจมตีจากหลายประเทศในโลกนี้ ดังที่ทุกคนเคยได้เห็นกันมาแล้วว่าชาติตะวันตกทำอะไรกับเราบ้าง" เออร์โดกันกล่าวปราศัยกับบรรดาผู้สนับสนุนที่มาร่วมชุมนุมกันในนครอิสตันบูล เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา "ตุรกีจะไม่ยอมถูกแบ่งแยก เราจะเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้า (ด้วยระบบใหม่) และเรามีงานที่ต้องทำอย่างหนักเพื่อประเทศของเรา"

ทั้งนี้การลงประชามติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยประธานาธิบดีเออร์โดกัน และพรรคการเมืองของเขา ด้านนายกรัฐมนตรีไบนาลี ยิลดีริม ออกมากล่าวขอบคุณประชาชนชาวตุรกีสำหรับการตัดสินใจครั้งใหญ่นี้

การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ที่ส่งผลให้ระบอบการปกครองของตุรกีเปลี่ยนจากระบบรัฐสภา ไปเป็นแบบประธานาธิบดีนี้ ส่งผลให้ประธานาธิบดีเออร์โดกันมีอำนาจในการบริหารมากขึ้น เช่นการแต่งตั้งผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ระดับสูง, ยุบสภา, ออกคำสั่งบริหารจากประธานาธิบดีโดยเฉพาะ ไปจนถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน

สำนักข่าวอัลจาซีราได้สัมภาษณ์ผู้สนับสนุนที่มาชุมนุมอยู่ด้านนอกของที่ทำการพรรค AK ของประธานาธิบดี Erdal Erdinc Durucu วัย 37 ปี กล่าวว่าเออร์โดกันกำลังสร้างยุคใหม่แห่งตุรกี "จวบจนวันนี้ทุกคนเหนื่อยหน่าย ประธานาธิบดีคนก่อนๆของเราพยายาทำสิ่งที่ดีเพื่อประเทศ แต่ฝ่ายค้านมักใช้อำนาจไม่ให้เขาทำเช่นนั้น" เขากล่าว "รัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นตัวอย่างที่ดี และพระเจ้าไม่ต้องการให้พวกนั้นชนะ...ตุรกีจะขึ้นเป็นที่หนึ่งของโลก อาณาจักรออตโตมันจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง"

อีกหนึ่งผู้สนับสนุน Yasemin Ozgen แม่บ้านวัย 43 ปี กล่าวว่า "วันดีๆกำลังจะมาถึง จากผลการลงประชามตินี้ตุรกีจะเป็นอิสระจากนุโรป และยืนได้ด้วยตนเอง"

ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไม่สู้ดีนักระหว่างตุรกี และประเทศยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเดือนที่ผ่านมา เมื่อตุรกี เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนีกล่าวโจมตีกัน นอกจากนั้นยังมีประเด็นข้อพิพาทที่เนเธอร์แลนด์ห้ามไม่ให้รัฐมนตรีตุรกีเข้าไปอธิบายถึงกระบวนการลงประชามติแก่ชุมชนชาวตุรกีในเนเธอร์แลนด์

รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้บทบาทของประธานาธิบดีตุรกีมีความเป็นกลาง และไม่มีความรับผิดชอบทางการเมืองมากนัก กระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจส่งผลให้เออร์โดกันดำรงตำแหน่งต่อไปนานถึงปี 2029 อย่างไรก็ตามผู้ไม่เห็นด้วยกังวลว่าอำนาจที่เพิ่มขึ้นของประธานาธิบดีจะส่งผลให้เกิดการปกครองโดยคนเดียว ปราศจากการตรวจสอบ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่