โรงเรียนรัฐในบอสตันใช้แผนที่โลกใหม่ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

โรงเรียนในบอสตัน เป็นรัฐแรกในสหรัฐที่เริ่มใช้แผนที่โลกที่แสดงภาพสัดส่วนใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น

วันเสาร์ ที่ 25 มีนาคม 2560, เวลา 12:00 น.

ลองมองไปที่แผนที่โลกที่คุณผู้อ่านเห็นจนชินตา กับแผนที่โลกแบบใหม่ที่โรงเรียนรัฐในบอสตันใช้จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน หลังการประชุมในที่สุดบรรดาคุณครูก็มีมติให้ทางโรงเรียนใช้แผนที่แบบ Peters Projection สำหรับการเรียนการสอนแทนแผนที่แบบเดิม เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นแก่เด็กนักเรียน

แผนที่แบบ Peters Projection หรือ Gall-Peters Projection นี้ถูกจัดทำขึ้นในปี 1974 ด้วยการระบุสัดส่วนของพื้นที่ที่มีความสมจริงมากขึ้นกว่าเดิมเช่น ทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้นั้นมีขนาดใหญ่กว่าทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป ซึ่งเป็นอะไรที่ทุกคนล้วนทราบกันอยู่แล้วในชีวิตจริง

สัดส่วนใหม่นี้ส่งผลให้หน้าตาของแผนที่ Peters Projection นั้นดูแตกต่างไปจากแผนที่โลกแบบเดิมๆ ที่เราทุกคนล้วนมีภาพเดียวกันในหัว ซึ่งคือแผนที่แบบ Mercator Projection ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1569 เพื่อใช้สำหรับการล่าอาณานิคมโดยเฉพาะ ในแผนที่ดังกล่าวนี้ให้ความสำคัญกับเส้นทางการเดินเรือ และทวีปยุโรปเป็นหลัก จึงส่งผลให้สัดส่วนอื่นๆผิดเพี้ยนไป

Frederick-Clarke ผู้อำนวยการด้านวัฒนธรรมของโรงเรียนรัฐในบอสตันระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กๆ เนื่องจากการบิดเบือนความจริงบางอย่างของแผนที่นั้นเป็นอะไรที่ไม่อาจมองข้ามได้ เช่น ในแผนที่เดิมกรีนแลนด์นั้นมีขนาดเท่าๆกับทวีปแอฟริกา (ในความเป็นจริงกรีนแลนด์มีขนาดเล็กกว่าแอฟริกา 14 เท่า) ในขณะที่ประเทศเยอรมนีนั้นแทบขะตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของแผนที่ (ในความเป็นจริงเยอรมนีนั้นตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ และมันอยู่สูงกว่าที่คุณคิดไว้เยอะ)

ทั้งนี้แผนที่ใหม่จะช่วยให้บรรดาเด็กนักเรียนตั้งคำถามมากขึ้น เมื่อพวกเขาพบความแตกต่างจากแผนที่เดิม อย่างไรก็ดีแม้แผนที่ใหม่แบบ Peters Projection นี้จะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่สัดส่วนจริงแท้ทั้งหมด เนื่องจากโลกของเรานั้นเป็นทรงกลม ฉะนั้นแล้วจึงเป็นการยากที่จะสร้างแผนที่ของสามมิติ ให้ลงมาอยู่ในพื้นที่แบบสองมิติโดยที่ข้อมูลนั้นไม่ถูกบิดเบือน

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่