พบไทยอ้วนอันดับ 2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามรายงานของ Asia Roundtable on Food Innovation for Improved Nutrition (ARoFIIN) ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากภาวะโรคอ้วน ภาวะทุพโภชนาการ และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พบว่า ประเทศไทยพบความชุกของภาวะโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร้อยละ 8.5

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 17 มิถุนายน 2560, เวลา 12:00 น.

ภาพ Thaihealth

ภาพ Thaihealth

รายงานฉบับนี้ ARoFIIN มอบหมายให้หน่วยงาน Economist Intelligence Unit (EIU) เป็นผู้จัดทำขึ้น และถือเป็นรายงานฉบับแรกที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคอ้วนในภูมิภาคอาเซียนอย่างละเอียด โดยใช้ชื่อว่า “การจัดการโรคอ้วนในอาเซียน – ความชุก ผลกระทบ และแนวทางการแทรกแซง” (Tackling obesity in ASEAN – Prevalence, impact, and guidance on interventions) รายงานฉบับดังกล่าวเสนอให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับภาวะโรคอ้วนเพื่อลดการเพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุข

ผลกระทบและต้นทุนทางเศรษฐกิจของโรคอ้วน

จากการศึกษาในทั้งหมดหกประเทศ ตามรายงานฉบับดังกล่าว พบว่าประเทศไทยมีความชุกของภาวะโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 8.5 โดยมีมาเลเซียรั้งอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 13.3 ในขณะที่ประเทศไทยมีหนึ่งในต้นทุนโดยรวมของภาวะโรคอ้วน ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อพิจารณาเทียบกับงบประมาณด้านสาธารณสุขในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 3-6 ของงบประมาณฯ) แต่มูลค่าผลกระทบของภาวะโรคอ้วนกลับสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคที่ประมาณ 27,000–51,000 ล้านบาทในปี 2559 โดยประเทศอินโดนีเซียแบกรับต้นทุนโดยรวมที่เกิดจากภาวะโรคอ้วนสูงที่สุดที่ 68,000-136,000 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 8-16 ของงบประมาณฯ) ตามมาด้วยประเทศมาเลเซียที่ 34,000-68,000 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 10-19 ของงบประมาณฯ) ต้นทุนเหล่านี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ระดับความสามารถในการทำงานที่ลดลง ตลอดจนการขาดงานอันเนื่องจากความเจ็บป่วยและสุขภาพทรุดโทรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกเหนือจากต้นทุนต่างๆ แล้ว ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะโรคอ้วนยังมีความเกี่ยวพันไปในวงกว้างอีกด้วย ตามรายงานฉบับนี้ ภาวะโรคอ้วนลดประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ป่วยโรคอ้วนในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 4 – 9 ปีตามค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ในกลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วนเพศชายในประเทศไทยพบการลดลงของจำนวนปีทำงานอันเนื่องมาจากภาวะโรคอ้วนที่ 5-10 ปี โดยประเทศที่มีอัตราการลดจำนวนปีการทำงานอันเนื่องมาจากภาวะโรคอ้วนสูงสุดในกลุ่มผู้ชายคือ ประเทศฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 8-12 ปี ตามมาด้วยมาเลเซียที่ 6-11 ปี ในเรื่องนี้ ผู้หญิงในประเทศไทยเป็นกลุ่มที่ดูจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ชาย โดยโรคที่เกิดจากภาวะโรคอ้วนลดจำนวนปีทำงานในกลุ่มผู้หญิงกลุ่มนี้ลงระหว่าง 2-7 ปี ซึ่งถือว่าต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค โดยสูงกว่าสิงคโปร์เพียงประเทศเดียวเท่านั้น

การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลทางโภชนาการและการเพิ่มปริมาณอาหารที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพในท้องตลาดเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดภาวะโรคอ้วน

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลทางโภชนาการและการเพิ่มปริมาณอาหารพลังงานสูงแต่คุณค่าทางอาหารต่ำในท้องตลาด นอกจากนี้ปัจจัยทางสังคม อาทิ การวางแผนครอบครัวของประเทศส่งผลให้แต่ละครอบครัวมีบุตรน้อยลง ผู้ปกครองมีแนวโน้มให้บุตรหลานของตนรับประทานอาหารมากเกินจำเป็น โดยเมื่อปีที่ผ่านมา พบเด็กไทยที่อยู่ในภาวะโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.5 เป็น 13.3 ตามการรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข

“การเปลี่ยนอาหารการกินและวิถีชีวิตคือกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาโรคอ้วน” คุณบรูโน คิสต์เนอร์ เลขาธิการของ ARoFIIN กล่าว “เราจำเป็นต้องทำให้สังคมตื่นตัวกันมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมอาหารและความสำคัญของการออกกำลังกาย”

มาตรการการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

หนึ่งในมาตรการการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและถูกหยิบยกในรายงานฉบับนี้ได้แก่ การบริโภคอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ แคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ และคาร์โบไฮเดรตต่ำ ผนวกกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีในการต่อสู่กับภาวะโรคอ้วนทั้งในบุคคลและระดับประชากร

ความตระหนักรู้ของภาครัฐเกี่ยวกับปัญหาภาวะโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดตัวแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทยในปี 2555 ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเสี่ยงอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และสำนักโภชนาการได้พัฒนาแผนอาหารและโภชนาการแห่งชาติขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการริเริ่มแคมเปญมากมายเพื่อรณรงค์สร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชน โดยมีรัฐบาล สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน (NGO) ต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม

“ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาการลุกลามของโรคอ้วนในเอเชีย รัฐบาลในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องตระหนักว่าภาวะโรคอ้วนจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญด้านการดูแลสุขภาพที่เราจะต้องเผชิญในอีก 20-30 ปีข้างหน้า” คุณคิสต์เนอร์กล่าว คุณคิสต์เนอร์เป็นผู้มีหน้าที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพของ ARoFIIN “ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ที่ต้องทำ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคประชาชนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบที่เหมาะสม ความก้าวหน้าที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ โปร่งใส และรับผิดชอบเท่านั้น”

ในภาคอุตสาหกรรมอาหารนั้น ผู้ผลิตอาหารระดับโลกก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารที่ราคาไม่แพงและดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการเสริมวิตามินและแร่ธาตุ พร้อมทั้งลดเกลือ น้ำตาล และไขมันลง ในการก้าวต่อไปข้างหน้านั้น ARoFIIN ตั้งเป้าว่าจะขยายการทำงานอย่างให้เข้าถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อดำเนินกิจกรรมแบบเดียวกัน

อนาคตข้างหน้า

ดร.ไซมอน แบปติสต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสต์ของ EIU หัวเรือใหญ่ของรายงานฉบับนี้ให้ข้อสังเกตว่ากลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่มีการเก็บข้อมูลความชุกของภาวะโรคอ้วนอย่างสม่ำเสมอและพบว่าบางประเทศยังไม่มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ ปัจจัยดังกล่าวอุปสรรคต่อการจัดทำนโยบาย และจะนำไปสู่การดำเนินโครงการที่ไม่ตรงตามเป้าหมายหรือมาตรการการแก้ปัญหาที่ขาดข้อเท็จจริงและตรวจสอบไม่ได้ “รายงานฉบับนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ได้วิเคราะห์ผลกระทบของภาวะโรคอ้วนอย่างละเอียด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลต่างๆ จะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าใจปัญหาภาวะโรคอ้วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ดร.แบปติสต์กล่าว

รายงานฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะโรคอ้วนในแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ กรรมพันธุ์ ความแตกต่างทางภูมิภาคและเศรษฐกิจ และได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการกำหนดยุทธศาสตร์การป้องกันการเกิดภาวะโรคอ้วนให้เหมาะสมกับประเทศของตน แทนการกำหนดนโยบายในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ดร.แบปติสต์ กล่าวเสริมว่า “รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้วางนโยบาย หน่วยงานด้านสาธารณสุข และภาคอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายต่างมีบทบาทในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคร่วมกัน การให้ความสำคัญในการระบุกลุ่มเสี่ยงจะทำให้ภาครัฐพัฒนานโยบายที่รอบด้านและวางมาตรการการแก้ปัญหาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้นได้ การแก้ไขปัญหาภาวะโรคอ้วนยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขแห่งชาติ และปรับทิศทางการดำเนินงานของรัฐให้สอดคล้องกับความต้องการจริงในประเด็นอื่นๆได้อีกด้วย ”

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่