'ปวดหัว' ใช่แค่ 'อดทน' ก็จบ

พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความรู้ว่า อาการปวดศีรษะมีหลายระดับ ในกรณีรุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรงในสมอง เช่น เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในสมอง หรือเนื้องอกในสมอง ถึงแม้จะพบไม่บ่อยแต่จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซีที-สแกน หรือตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอ็มอาร์ไอ เป็นต้น

วันอาทิตย์ ที่ 30 กรกฎาคม 2560, เวลา 14:00 น.

ภาพ โพสต์ทูเดย์

ภาพ โพสต์ทูเดย์

"วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ผู้ป่วยปวดศีรษะเฉียบพลันและรุนแรงขึ้นมาทันที โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีอาการปวดศีรษะแบบเป็นๆ หายๆ มาก่อน หรือปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ ปวดขึ้นทุกวัน ทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้น ปวดมากจนไม่สามารถนอนหลับได้ หรือปวดมากจนตื่นกลางดึก พร้อมทั้งมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ตามัว เห็นภาพซ้อน ชาแขนขา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง"

หากไม่เข้าข่ายอาการดังกล่าว เป็นไปได้ว่าอาจจะมีอาการปวดศีรษะชนิดไม่รุนแรง ซึ่งมีสาเหตุจากความเครียด พบในทุกช่วงอายุ เป็นผลจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ ซึ่งกระตุ้นจากความเครียด พักผ่อนน้อย หรือการกระทำที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ เกร็งหรือตึง มีลักษณะปวดแบบตื้อๆ มึนๆ เหมือนมีอะไรมาบีบรัดบริเวณหน้าผาก ขมับ หรือท้ายทอย อาการปวดมักเป็นไม่มาก อาจปวดได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึงหลายวัน

"ต้นเหตุที่พบมากเป็นอันดับสองคือ ปวดไมเกรน ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน อาการปวดค่อนข้างจำเพาะ มีลักษณะปวดตุ๊บๆ บริเวณขมับ ร้าวมาที่กระบอกตา หรือร้าวไปท้ายทอย มักปวดบริเวณข้างใดข้างหนึ่ง แต่บางรายอาจปวดทั้งสองข้าง ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และอาจมีอาการกลัวแสงหรือกลัวเสียง มีอาการนำก่อนปวด เช่น เห็นแสงผิดปกติ

อาการปวดมักมีปัจจัยกระตุ้นชัดเจน เช่น อากาศร้อน ความเครียด กลิ่นบางชนิด เช่น น้ำหอม บุหรี่ อาหารบางชนิด เช่น ชีสช็อกโกแลต หรือรอบประจำเดือน เป็นต้น มักจะมีอาการปวดอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง หากมีอาการดังกล่าวแนะนำให้นอนพักและอยู่ในที่เงียบ สงบ แสงไม่จ้าจนเกินไป หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ และกินยาบรรเทาอาการภายใต้คำแนะนำของแพทย์"

ถัดมาคือ ปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและวัยกลางคนขึ้นไป เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทสมองคู่ที่ 5 และหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ มีลักษณะอาการปวดศีรษะเป็นชุดๆ มักปวดเวลาเดิมๆ ปวดติดต่อกันระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไป อาการปวดแต่ละครั้งมักไม่นานมาก ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่จะปวดรุนแรงกว่าไมเกรน ตำแหน่งมักปวดที่รอบกระบอกตา และอาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล น้ำมูกไหล หนังตาตกร่วมด้วยได้ เมื่อมีอาการปวดควรมาพบแพทย์

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่