ชาวบ้านเชิงทะเลโวยระบบบำบัดน้ำ 300 ล้าน ไม่เปิดใช้งาน นายกเล็กแจงกำลังแก้ไข

ภูเก็ต - ชาวบ้านขอความชัดเจนการแก้ปัญหาน้ำเสียไหลลงหาดสุรินทร์หลังผ่านหลายเดือนแก้ปัญหาไม่คืบ ระบบบำบัดกว่า 300 ล้านสร้างเสร็จแล้วแต่ไม่ได้ใช้งาน ด้านนายก อบต.เชิงทะเลแจงสั่ง ขุดบ่อดักนำเสียไม่ให้ลงหาด และสูบไปลงบ่อบำบัดอื่น อยู่ระหว่างจัดจ้างวิธีพิเศษเปิดระบบชั่วคราวเดือนหน้า ส่วนระยะยาวเตรียมหาผู้รับจ้างดูแลรายใหม่

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 19 มีนาคม 2561, เวลา 10:24 น.

วานนี้ (18 มี.ค. 61) ผู้สื่อข่าวได้รับการประสาน จากนายจำลอง สิทธิโชค อายุ 50 ปี ชาวบ้านพื้นที่หาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และที่ปรึกษาอาวุโสชมรมกระดานโต้คลื่นหาดสุรินทร์ ว่าขอให้ช่วยตรวจสอบปัญหาน้ำเสียจากชุมชนและสถานประกอบการที่ไหลลงมายังชายหาดสุรินทร์

จากนั้น จึงได้พาผู้สื่อข่าวเดินตรวจสอบ พบว่าน้ำเสียไหลลงจากท่อที่ข้ามมาจากอีกฝั่งถนน ผ่านบ่อพักของระบบบำบัดที่ไม่สามารถใช้งานได้ ก่อนไหลลงสู่แอ่งทรายที่ขุดไว้รองรับขนาดใหญ่ริมชายหาด โดยสีของน้ำดำสนิทและส่งกลิ่นเหม็น สร้างความประหลาดใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ขับรถ และเดินผ่านไปมาหน้าชายหาด จนต้องแวะเข้าไปดูและถ่ายภาพใกล้ ๆ

นายจำลอง กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานนับปี หลังจากที่มีการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่รุกล้ำชายหาดออกไป หน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีการตั้งงบประมาณ กว่า 300 ล้านบาท ในการทำระบบบำบัดน้ำเสีย แต่พอหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จก็ไม่มีการเปิดใช้งานได้ จนทราบว่าระบบบำบัดบางส่วนพังเสียหาย ขณะที่น้ำเสียยังคงไหลมาเรื่อย ๆ กระทั่งไหลลงสู่ชายหาด ชาวบ้านพยายามทักท้วงไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอบต.เชิงทะเล

แต่ก็ได้รับเพียงคำตอบว่าอยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างบริษัทเข้ามาดูแล ก่อนจะเงียบหายไป เมื่อทักท้วงอีกก็เข้ามาแก้ปัญหาปลายเหตุ ซึ่งไม่สามารถทำได้ ล่าสุดเข้ามาขุดเปิดทรายเป็นแอ่งขนาดใหญ่เพื่อรับน้ำเสีย ก่อนใช้รถสูบน้ำเสียไปนอกพื้นที่ ซึ่งก็สูบได้ไม่นานน้ำเสียก็ไหลลงมาเต็มแอ่งอีก

ล่าสุด หลังการทักท้วงผ่านมา 1 สัปดาห์ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน ตนเองเกรงว่าหากวันใดมีฝนตกลงมาอย่างหนักจะทำให้น้ำเสียไหลทะลักจากบ่อลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำทะเลและปะการังในบริเวณดังกล่าวแน่นอน และในระยะยาว หากไม่มีการแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ ก็ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อชายหาด นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเกิดคำถามตามมามากมาย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ อบต.เชิงทะเล เร่งดำเนินการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุให้เรียบร้อย

ขณะที่ นายเรเจอร์ ชมิดท์ อายุ 55 ปี นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่มาท่องเที่ยวยังหาดสุรินทร์ ได้กล่าวว่า ตนเองและภรรยาชอบบรรยากาศที่ชายหาดสุรินทร์มาก เพราะมีความสวยงามและเงียบสงบ แต่เมื่อลงเล่นน้ำก็รู้สึกแปลก ๆ มีผื่นคันตามตัว จนมาเห็นแอ่งน้ำเสียอยู่กลางชายหาดก็รู้สึกแปลกใจ และคิดว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของชายหาดแห่งนี้อย่างแน่นอน จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง นายมาแอน สำราญ นายก อบต.เชิงทะเล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ชายหาดสุรินทร์ ได้คำตอบว่า ปัญหาน้ำเสียดังกล่าวเกิดขึ้นมานานหลายปี พร้อม ๆ กับชายหาดบางเทาซึ่งอยู่ในการดูแลของ อบต.เชิงทะเล เช่นกัน

ซึ่งที่ผ่านมาทางอบต.เชิงทะเลได้ร่วมกับจังหวัดผลักดันงบประมาณสร้างระบบบำบัด จนเกิดเป็นโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและรวบรวมน้ำเสียระยะที่ 1 (หาดบางเทาและหาดสุรินทร์) จนได้รับการอนุมัติงบประมาณ จาก 2 ส่วน คือ งบประมาณจาก อบต.เชิงทะเล จำนวน 106,746,975 และ งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 248,773,025 บาท รวมเป็น 355,520,000 บาท .

โดยก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2555 – ปี 2560 รวมระยะเวลา 5 ปี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้มีการส่งมอบ ก่อนเข้าสู่กระบวนการตั้งงบประมาณ โครงการจ้างเหมาดูแลและบำรุงรักษาระบบรวบรวมระบบบำบัดน้ำเสีย ปรากฏว่าในส่วนของหาดสุรินทร์นั้น ผู้ยื่นซองประกวดราคาคุณสมบัติไม่ผ่านตามที่มีการกำหนดไว้ใน “ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง” หรือ TOR (Term of Reference) จึงต้องมีกระบวนการสรรหาใหม่แต่ก็ยังไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถเดินระบบบำบัดน้ำเสียได้จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 7 เดือน

ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้นำเรียนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร่วมแก้ปัญหา ในระยะเร่งด่วนยังไม่สามารถเปิดระบบบำบัดได้นั้นจะแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อทรายดักน้ำเสียไม่ให้ไหลลงทะเล ก่อนใช้รถสูบน้ำเสียไปทิ้งลงในระบบบำบัดของหาดบางเทาซึ่งขณะนี้เปิดระบบเต็มรูปแบบอยู่ และน้ำเสียบางส่วน อาจจะต้องขนไปเข้าระบบบำบัดของเทศบาลเมืองป่าตอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การแก้ปัญหาระยะกลางนั้น จะมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษชั่วคราว เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยจะให้เอกชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย เข้ามาตรวจสอบและซ่อมแซมระบบบำบัดบางส่วนที่เสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้งาน ให้พร้อมใช้งานและเริ่มเปิดระบบบำบัด ซึ่งคาดว่าภายในเดือนหน้า จะสามารถเปิดระบบบำบัดน้ำเสียของหาดสุรินทร์ได้

และในระยะยาว สืบเนื่องจากหลายบริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคา โครงการจ้างเหมาดูแลและบำรุงรักษาระบบรวบรวมระบบบำบัดน้ำเสียนั้นไม่ผ่านคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ตาม “ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง” จึงต้องหาแนวทาง เบื้องต้นคาดว่าจะมีการแก้ไข ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างในบางข้อ เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมเสนอราคาผ่านคุณสมบัติ ซึ่งจะต้องกระทำโดยไม่ขัดกับหลักกฎหมาย และไม่สุ่มเสี่ยงกระทำผิดระเบียบของ สตง.ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ

อย่างไรก็ตาม นายมาแอนกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองทราบดีถึงปัญหาน้ำเสียดังกล่าว และขอบคุณพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เป็นห่วงพยายามร้องเรียนเข้ามายัง อบต.เชิงทะเลและร้องผ่านสื่อ ตนเองขอยืนยันไม่ได้ปล่อยปะละเลย แต่การแก้ปัญหาในส่วนของราชการนั้น ทุกกรณีจะต้องให้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งอาจจะดูขัดแย้งกับความเห็นของประชาชนไปบ้างแต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่