ภูเก็ตปล่อยปูม้า 6 ล้านตัวสู่ทะเล เพื่ออนาคตชุมชนประมงไทย

ภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านจัดกิจกรรม 'คืนปูม้าสู่ทะเลไทย' เพื่อเพิ่มปริมาณปูม้าและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลอันดามัน สร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 19 มีนาคม 2561, เวลา 14:20 น.

เช้าวานนี้ (18 มี.ค. 61) ที่ป่าชายเลน บ้านท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายเก้า แซ่ลิ้ม ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านท่าฉัตรไชย เครือข่ายประมงพื้นบ้านและพี่น้องประชาชน ร่วมปล่อยปูม้าภายใต้กิจกรรม "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" เพื่อเพิ่มปริมาณปูม้าและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยมี สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต เป็นเจ้าภาพบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มประมงพื้นบ้านและแปรรูปสัตว์น้ำบ้านท่าฉัตรไชยและกลุ่มประมงพื้นบ้านแหลมทราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดทำธนาคารปูม้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

นายนรภัทร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยในชุมชนชายฝั่งทะเลจำนวน 500 ชุมชนในระยะเวลา 2 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ลดความเหลื่อมล้ำและการอยู่กับธรรมชาติอย่างเท่าเทียม สำหรับกิจกรรมคืนปูม้าสู่ทะเลไทยในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มปริมาณปูม้าซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่นิยมในการบริโภค และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ

พ่อเมืองกล่าวอีกว่า จำนวนพันธุ์ปูม้าที่ปล่อยคืนสู่ทะเลอันดามันในครั้งนี้มีจำนวน 6,010,000 ตัว จากแม่ปูม้าจำนวน 12 ตัว คิดเป็นมูลค่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นแก่ชาวประมงพื้นบ้านในอนาคตกว่า 7.21 ล้านบาท ซึ่งธนาคารปูม้าเป็นกิจกรรมที่อนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของกลุ่มชาวประมงที่นำแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองมาขังไว้ในถังที่มีออกซิเจนหรือปล่อยไว้ในคอกเพื่อให้แม่ปูม้ามีโอกาสปล่อยไข่กลับคืนสู่ธรรมชาติก่อนจะนำแม่ปูม้าไปจำหน่าย หรือใช้ประโยชน์และนำลูกปูม้าวัยอ่อนคืนสู่ทะเล เติบโตเป็นปูม้าขนาดใหญ่ต่อไป

การรวมกลุ่มของชาวประมงทำธนาคารปูม้า จึงเป็นการเพิ่มขึ้นของทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายเก้า กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารปูม้าจังหวัดภูเก็ต มีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 15 ราย และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ให้การสนับสนุนธนาคารปูม้าเกิดผลเป็นรูปธรรมเป็นอย่างดี ทั้งนี้อยากจะขอความร่วมมือชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทุกคนหากทำการ ดักลอบ จับปูม้าที่มีไข่อยู่นอกกระดองขอให้นำมาฝากได้ที่ธนาคารปูม้าเพื่อจะได้ ให้แม่ปูได้สลัดไข่ตัวอ่อนออก และนำลูกปูม้าตัวอ่อนขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติของทะเลฝั่งอันดามันต่อไป

นอกจากนี้ ยังอยากขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ทิ้งขยะลงในทะเลและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตมีความยั่งยืนตลอดไป

ข้อมูล: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่