ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “วิสาขบูชาโลก เชิดชูกษัตริย์นักพัฒนา” ภายใต้หัวข้อหลัก “พระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์”

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 26 พฤษภาคม 2561, เวลา 09:00 น.

พุทธศาสนิกชนชาวภูเก็ตร่วมเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

พุทธศาสนิกชนชาวภูเก็ตร่วมเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ภาพ จุฑารัตน์ เปลรินทร์

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน กิจกรรมใน วันวิสาขบูชา

โดยในปีนี้ คณะกรรมการสมาคมวิสาขบูชาโลก และกรรมการสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ จาก 18 ชาติ ได้มีการลงมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 25 – 27 พ.ค. 61 โดยได้กำหนดหัวข้อหลักในการจัดงานเน้นพระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์ (Buddhist Contribution to Human Development) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา, ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จ.นครปฐม

พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ประธานคณะกรรมการสมาคมวิสาขบูชาโลก กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้เคยถวายรางวัลสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ในปี 2549 นับเป็นครั้งแรกที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำรางวัลเกียรติยศขึ้น เพื่อมอบให้กับบุคคลดีเด่นที่อุทิศตนตลอดช่วงชีวิต และสร้างคุณค่าของผลงานเป็นที่น่าประจักษ์และคุณูปการที่ผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ ในโอกาสได้เข้าร่วมประชุม "คณะกรรมการอำนวยการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2561" เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ในฐานะกรรมการ โดยมีผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี(เดิม) ชั้น 2 ตึกเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

พระพรหมบัณฑิต กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้เคยถวายรางวัลสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะ "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” ในปี 2549 นับเป็นครั้งแรกที่องค์การสหประชาชาติ ได้จัดทำรางวัลเกียรติยศขึ้น เพื่อมอบให้กับบุคคลดีเด่นที่อุทิศตนตลอดช่วงชีวิต และสร้างคุณค่าของผลงานเป็นที่น่าประจักษ์และคุณูปการที่ผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการศึกษา การขยายโอกาสและทางเลือก ซึ่งเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถแก่ปัจเจกชนที่จะเลือกให้มีชีวิตยืนยาวด้วยการมีสุขพลานามัยที่แข็งแรง มีความรู้และความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาคนเพื่อให้คนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจและอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในชีวิต และความเท่าเทียม"

“จากกษัตริย์นักพัฒนาสู่การถอดบทเรียนเป็นศาสตร์พระราชา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นหัวข้อหลักในการจัดพิธีเฉลิมฉลงวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานครั้งนี้ และมีองค์กรพระพุทธศาสนาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน โดยที่ประชุมได้มีมติจัดงานตั้งแต่วันที่ 25-27 พฤษภาคม 2561 ในการจัดงาน ทั้งนี้ จะมีการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2561” พระพรหมบัณฑิตกล่าวเสริม

สำหรับการจัดงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ ได้มีการประชุมวิชาการนานาชาติแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) พระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์ (Buddhist Contribution to Human Development) (2) การศึกษาเชิงพุทธกับการเสริมสร้างพลังของเยาวชน (Empowering youth through Buddhist Education) (3) การอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในโลกที่เชื่อมโยงกัน (Preservation Cultural Identity in Inter-Connected World) และ (4) พระพุทธศาสนาเพื่อสร้างสวัสดิการสังคม (Engaged Buddhist for Social Welfare) พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้เชิญนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกมานำเสนอประสบการณ์ทำงานมานำเสนอในเวทีของการเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย

พร้อมกันนี้ มหาเถรสมาคม ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอเชิญ พุทธศาสนิกชนร่วมกิจกรรมสัปดาห์แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา “วันวิสาขบูชา” วันสำคัญสากลของโลก ระหว่างวันที่ 24-30 พ.ค. นี้ ณ พุทธมณฑล วัดทุดวัดทั่วราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ

"วันวิสาขบูชา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7 ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ

1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรม เทศนา
3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 
และ กรมประชาสัมพันธ์

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่