เจาะลึก อาชีพ “เจ้าหน้าที่เก็บศพ”

โก๊เต็ก แห่งโรงพยาบาลวชิระ ผู้ซึ่งทำงานนี้มากว่า 36 ปีแล้ว

เปรมกมล เกษรา

วันอาทิตย์ ที่ 12 มีนาคม 2560, เวลา 12:00 น.

คนเราทุกคนล้วนมีอายุไข และชีวิตหลังความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่ามันเป็นเช่นไร แต่ที่โรงพยาบาลวชิระ ยังมีคนหนึ่งที่คอยดูแล “ร่าง” ที่นอนสงบอยู่บนเปลคนไข้ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชีวิต มีลมหายใจ มีความทรงจำเหมือนคนเราทั่วๆไป

นายสมชาย หลิมประสงค์กุล หรือ “โก๊เต็ก” พนักงานรักษาศพแห่งห้องเก็บศพ ณ โรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยเรื่องราวการทำงานกับ “ศพ” ว่า “โก๊ทำงานที่นี่มา 36 ปีแล้ว ตอนนี้อายุ 58 ปี ทำตรงนี้มานาน ตอนแรกก็กลัวนะ แต่ตอนนี้โก๊ไม่กลัวแล้ว แก่แล้ว (หัวเราะ) ความตายมันเป็นเรื่องธรรมชาติ คนเราทุกคนต้องตายอยู่แล้ว เราทำเพื่อเขา (ผู้เสียชีวิต) เราดูแลเขา อาบน้ำให้เขา ให้เขาดูดีที่สุดในช่วงสุดท้ายของการมีร่างอยู่บนโลกนี้ เดี๋ยวต่อไปเราก็ตาย ชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยง พอเราตายก็จะมีคนที่ทำอาชีพนี้มาทำแบบนี้ให้เราเหมือนกันนี่แหละ เพราะฉะนั้นตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ เราก็ดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด”

นายสมชายได้เล่าถึงระบบการจัดการศพในความดูแลว่า “ศพทุกศพที่เสียชีวิตลง และศพที่ถูกพบเจอในเขตพื้นที่อำเภอเมืองจะต้องถูกส่งมาที่โรงพยาบาลวชิระ เท่านั้น”

“ถ้าหากเป็นศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล เราก็ชำระล้างศพให้สะอาด จากนั้นในบางรายญาติก็จะมาแต่งหน้าแต่งตาศพเอง ถ้าญาติไม่ทำก็จะมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกุศลธรรมมาแต่งหน้าให้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ว่าง โก๊ก็จะแต่งให้เอง ใช้เวลาฝึกนานเป็นปีเมื่อกัน เมื่อก่อนทำไม่เป็นตอนนี้แต่งได้แล้ว”

“ส่วนศพที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โก๊ก็จะเย็บปิดบาดแผลบริเวณที่โดนอุบัติเหตุมาเช่นเนื้อฉีกขาด อวัยวะผิดรูป โก๊ก็จะจัดแต่งให้เข้าที่ ให้สภาพศพออกมาสมบูรณ์ที่สุด ก่อนส่งต่อให้ญาติรับกลับไปบำเพ็ญกุศลต่อไป”

การเก็บรักษาศพ
ตู้เก็บศพของโรงพยาบาลวชิระในตอนนี้มีทั้งหมด 4 ตู้ ซึ่งมีขนาดแตกต่างกัน ทางโรงพยาบาลจะสามารถเก็บรักษาศพได้ทั้งสิ้น 14 ศพ แต่ในบางช่วงที่มีศพเกินจำนวนช่อง ก็จำเป็นต้องทำการซ้อนศพ โดยจะสลับหัว-ท้ายศพ โดยช่องเก็บ 1 ช่องจะซ้อนกันไม่เกิน 2 ศพ หากไม่จำเป็นจริงๆเราจะไม่ทำการซ้อนศพเด็ดขาด เราให้เกียรติศพทุกศพ และโดยเฉพาะศพของคนไทยที่เราสามารถติดต่อญาติเขาได้ เราจะโทรแจ้งให้ญาติทราบล่วงหน้าก่อนที่จะทำการซ้อนศพ ซึ่งในกรณีนี้คือต้องมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ในปีหนึ่งนั้น จะมีช่วงเทศกาลหลายช่วงที่คนไทยมีความเชื่อว่า จะไม่ทำการฌาปนกิจศพเนื่องจากไม่เป็นสิริมงคล เช่นเทศกาลตรุษจีน เทศกาลถือศีลกินผัก ซึ่งกินเวลานานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ ดังนั้นญาติผู้เสียชีวิตจึงจำเป็นจะต้องฝาก “ศพ” ไว้ที่ห้องเก็บศพที่โรงพยาบาลก่อน แล้วจะมารับศพกลับไปทำพิธีทางศาสนา เมื่อเทศกาลเสร็จสิ้นลง อีกกรณีที่ก่อให้เกิดการแออัดของศพคือในช่วงหยุดยาวหลายๆ ที่มักเกิดอุบัติเหตุและเกิดการสูญเสียบ่อยครั้ง เช่นเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์

ถามว่าตู้เก็บศพที่โรงพยาบาลวชิระว่าพอเพียงหรือไม่ โก๊เต็ก ตอบว่า “จริงๆตอนนี้ก็ไม่พอนะ มีตู้หนึ่งที่เก็บได้ 4 ช่อง (4ศพ) เสียอยู่ ต้องการการซ่อมแซม ซึ่งได้แจ้งหมอไปแล้ว หมอก็กำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและทำเรื่องขอซื้อเพิ่มอยู่ เราจะได้มีพื้นที่เก็บศพอย่างพอเพียง แต่ความจริงแล้วต้องการตู้เก็บให้ได้ซัก 20 ศพ แต่เราคงมีพื้นที่ไม่พอที่จะวางอยู่ดี”

“ถ้าหากว่าศพในห้องเก็บศพมีมากจนไม่พอต่อตู้แช่ศพจริงๆ ศพใหม่ที่เข้ามาไม่มีที่จะเก็บเราก็จำเป็นต้องแจ้งให้ญาติทราบว่าไม่มีพื้นที่จริงๆ เราจะแนะนำให้ญาตินำศพไปฝากไว้ที่วัดก่อน โดยที่เราจะทำการฉีดสารฟอร์มาลีนเข้าไปในศพเพื่อคงสภาพศพไว้ไม่ให้เน่าเปื่อย ญาติไม่ต้องกังวลเลยเพราะสารฟอร์มาลีนจะไม่ทำให้ศพเน่าแม้ว่าจะไม่ได้แช่โลงเย็นก็ตาม เมื่อหมดหน้าเทศกาลแล้ว ก็จะดำเนินการฌาปนกิจต่อไป”

ศพไร้ญาติ
ในบางครั้งทางห้องเก็บศพก็ได้รับศพไร้ญาติมาฝากไว้ โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ
1. คนไข้ในโรงพยาบาล
หากคนไข้ไม่มีญาติที่มารักษาที่โรงพยาบาลวชิระเสียชีวิตลง ทางโรงพยาบาลจะทำการประกาศหาญาติก่อนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากครบกำหนดแล้วยังไม่มีญาติมารับ ก็จะมอบให้มูลนิธิกุศลธรรมนำศพไปฝัง
2. ศพที่มาจากข้างนอก
หากมูลนิธิกุศลธรรมนำศพผู้เสียชีวิตมาฝากไว้โดยที่ผู้ตายนั้นไม่มีญาติมาติดต่อรับศพใดๆ เจ้าหน้าที่ห้องเก็บศพจะติดต่อไปยังสถานีตำรวจภูธรในท้องที่ที่พบศพและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการประกาศหาญาติผู้เสียชีวิตประมาณ 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่า หลังจากนั้นก็จะมอบให้มูลนิธิกุศลธรรมนำศพไปฝังเช่นเดียวกับศพคนไข้ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล

โดยศพที่ไม่มีญาติมารับ ทางมูลนิธิจะรับมอบไปฝัง ณ สุสานไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

ชีวิตส่วนตัว/เบื้องหลังผู้ปิดทองหลังพระ
โกเต็ก เล่าเรื่องราวความเป็นมาของจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับร่างไร้ลมหายใจว่า “เมื่อก่อนโก๊ทำงานอยู่ที่แผนกเวรเปล เข็นเปลคนไข้ในโรงพยาบาลวชิระนี่แหละ ต่อมาตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่รักษาศพ” ว่างลงและว่างอยู่อย่างนั้นนานหลายปี ไม่มีใครกล้ามาทำตำแหน่งนี้เลย สุดท้ายโก๊ก็เสนอรับตำแหน่งนี้ อยากเป็นพระเอก (หัวเราะ) แล้วก็ได้รับบรรจุเข้ารับราชการด้วย โก๊ก็ทำตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”

“โอ้โห มาทำงานนี้แรกๆกลัวมากนะ โดยเฉพาะช่วงปีแรก กลัวมาก ยิ่งเมื่อต้องเข้าเวรดึกยิ่งกลัว ต้องพาเพื่อนมานอนที่นี่ด้วยกัน แต่ต่อมาปีที่ 2-3 ก็ไม่กลัวแล้ว ชินแล้ว มันเป็นเรื่องปกติ”

“ตอนนี้โก๊อายุ 58 แล้ว เหลืออีก 2 ปีก็จะเกษียณ หลังจากนี้ก็จะไปพักผ่อน มีเวลานอนปกติเหมือนคนอื่นเค้า ไม่ต้องเข้าเวรดึกๆ มีเวลาไปออกกำลังกาย เพราะโก๊ชอบตีแบตมินตันที่สะพานหิน นี่โก๊เป็นแชมป์แบตมินตันกีฬาภายในกระทรวงสาธารณสุขเลยนะ” (ยิ้ม)

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่