ประมงพื้นบ้านภูเก็ตเรียกร้องให้รัฐจริงใจแก้ปัญหา 3 เรื่องหลัก

ภูเก็ต - เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ตได้ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องที่อยู่อาศัยของพี่น้องชาวประมง, เรื่องอาณาเขตพื้นที่ทำประมง 1.5 ไมล์ที่ส่งผลกระทบ และขอให้ช่วยเรื่องสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ในโอกาสที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการทำประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตพร้อมนำข้อมูลเสนอรัฐบาลเพื่อวางแนวทางในการดูแลและยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตประมงพื้นบ้านให้มีอาชีพที่มั่นคงควบคู่กับการบริหารทรัพยากรทะเลให้มีความยั่งยืน

วันอังคาร ที่ 15 มกราคม 2562, เวลา 09:41 น.

ชาวประมงพื้นบ้านดักกุ้งบริเวณชายหาด / แฟ้มภาพ The Phuket News

ชาวประมงพื้นบ้านดักกุ้งบริเวณชายหาด / แฟ้มภาพ The Phuket News

เช้าวานนี้ (14 ม.ค. 62) ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตที่เพิ่งเกษียณไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผ่านมา เป็นประธานการประชุมรับฟังปัญหาจากการทำประมงพื้นบ้านในจังหวัดภูเก็ต โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และเครือข่ายประมงพื้นบ้านรอบเกาะภูเก็ต 40 ชุมชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นายนรภัทร กล่าวว่า จากความสำเร็จในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU (อ่านเพิ่มเติม คลิก) นับเป็นความสำเร็จของประเทศไทยในการยกระดับการทำประมงเชิงพาณิชย์ไปสู่มาตรฐานสากล ตลอดจนส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ตลาดการส่งออกของผลผลิตทางการประมงจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีฯให้มารับฟังปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน และจะได้สรุปข้อมูลทั้งหมดจากการลงพื้นที่ ทั้ง 22 จังหวัดที่มีการทำประมง นำเสนอต่อรัฐมนตรีฯ เพื่อนำไปใช้ในการวางนโยบายในการดำเนินการช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ รวมถึงการแก้ปัญหาเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านกับประมงเชิงพาณิชย์ภาครัฐต้องทำอย่างไรให้สองฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างสันติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากข้อมูลพบว่าในปัจจุบัน การศึกษาเรื่องของระเบียบกฏหมายข้อปฏิบัติต่าง ๆ มีความสำคัญมาก จึงอยากให้ชาวประมงได้ศึกษาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ให้เข้าใจ เพราะจะเป็นประโยชน์สำหรับชาวประมง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ตได้ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาใน 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องที่อยู่อาศัยของพี่น้องชาวประมง, เรื่องอาณาเขตพื้นที่ทำประมง 1.5 ไมล์ที่ส่งผลกระทบในการทำประมง และท่าจอดเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งปัจจุบันชาวประมงใช้วิธีการจอดเรือโดยวิธีการเกยหาด ซึ่งทำให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนต้องรอเวลาน้ำขึ้นลง จึงจะสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้ และเรื่องสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยอยากให้ทางราชการช่วยจัดสรรและพัฒนาพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ชาวประมงได้นำผลผลิตสัตว์น้ำมาจำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ง่ายขึ้น

นายสมศักดิ์ พรหมแก้ว ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีประมงพื้นบ้านประมาณ 1,200 ลำ พร้อมที่จะช่วยภาครัฐในการพัฒนาการทำประมงให้มีคุณภาพและดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการดูแลหน้าบ้านของตนเองด้วยการวางซั้งเชือก เพื่ออนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ที่ตนเองทำประมงอยู่ เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนตลอดไป

ด้านนายไพศาล สุขปุณพันธ์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดมีการยกเลิกการทำโป๊ะน้ำตื้นอย่างเด็ดขาด โดยจังหวัดภูเก็ตมีผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์จำนวน 360 ราย ผลผลิตสัตว์น้ำจากการจับ 89,000 ตัน มีเรือประมงพื้นบ้านที่จดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 760 ลำ และยังไม่จดทะเบียนอีกประมาณ 400 ลำ

ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ และจัดทำเครือข่ายตาสับปะรดประมงพื้นบ้าน เฝ้าระวังควบคุมเรือประมงที่กระทำผิดกฎหมายที่เข้ามาทำประมงในน่านน้ำ พร้อมทั้งทำการพัฒนาอาคารแปรรูปสัตว์น้ำที่บ้านท่าฉัตรไชย เพื่อยกระดับสินค้าประมงพื้นบ้านให้เป็นสินค้าคุณภาพภายใต้ Phuket Brand และจัดทํากระชังเลี้ยงปลาเพื่อทดแทนช่วยเหลือชาวประมงจากการยกเลิกโป๊ะน้ำตื้น รวมถึงพัฒนาโรงซ่อมเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ที่อ่าวมะขาม

ส่วนนายเกล้า แซ่ลิ่ม ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านและแปรรูปสัตว์น้ำบ้านท่าฉัตรไชย ได้รายงานถึงความสำเร็จของการจัดทำธนาคารปูม้าที่ท่าฉัตรไชย ว่าปัจจุบันมีการรับซื้อปูม้า จากชาวประมงพื้นบ้านเพื่อนำแม่ปูม้าที่มีไข่ติดกระดองมาขยายพันธุ์ปูมาให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาอาคารโดยนำระบบแผงโซล่าเซลล์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าซึ่งประหยัดไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี และมีการส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เชิงนิเวศทำกิจกรรม Walk Way และลงพื้นที่ไปปล่อยพันธุ์ปูม้า ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

ก่อนปิดการประชุม ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ยืนยันว่าจะเร่งแก้ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับฟังในวันนี้ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยของพี่น้องชาวประมง เรื่องการประสานเขตทำประมง 1.5 ไมล์ทะเล และผลักดันท่าจอดเรือประมงพื้นบ้านให้มีความชัดเจน ตลอดจนการส่งเสริมสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้ชาวประมงได้มีสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด


- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่