“ป้าต้อย” กับความรู้ด้านวิชาชีพผ่านความหลงใหลในงานผ้า

“ป้าต้อยไม่มีความรู้ แต่ก็พยายามขวนขวายหาความรู้ หาวิชาชีพเลี้ยงตนเอง พอเราทำได้แล้วเราก็อยากจะช่วยเหลือคนอื่นให้มีโอกาสเหมือนที่เราได้รับมา” เพราะต้นทุนชีวิตของคนเราไม่เท่ากัน แต่สามารถสร้างโอกาสให้ตัวเองและส่งต่อสิ่งที่ดีให้ผู้อื่นได้เสมอ

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันอาทิตย์ ที่ 13 สิงหาคม 2560, เวลา 09:00 น.

“ป้าต้อย” หรือ ต้อย หนูพงษ์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้ามืออาชีพกับประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ไม่ว่าจะชุดแบบไหนก็สามารถตัดเย็บออกมาตามแบบได้เพียงแค่ใช้สายตามอง ได้บอกเล่าถึงชีวิตที่ต้องสู้ของตนเองเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำหรับทุกท่านที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง อนาคตอยู่ในกำมือของเรา “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะมีชีวิตที่ดีได้ และแบ่งปันความสุขกับผู้อื่นได้เสมอ”

ป้าต้อยเป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ เป็นลูกสาวที่เกิดมาในครอบครัวคนจีนสมัยก่อน ก๋งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วแท้ๆ ที่เดินทางมาจากเมืองจีนจนมาพบรักกับคุณยายเป็นคนที่เป็นคนศรีสะเกษ แต่แล้วเมื่อป้าต้อยอายุ 2 ขวบ คุณแม่ก็ได้พาป้าต้อยย้ายมาอยู่ที่ภูเก็ตเนื่องจากเกิดมีปัญหาของผู้ใหญ่ขึ้นในครอบครัว

ป้าต้อยเล่าให้ฟังว่า คุณแม่เริ่มจากการรับจ้างซักผ้าแถวหน้าวัดควน (วัดวิชิตสังฆาราม) จากนั้นได้แต่งงานใหม่ที่ภูเก็ต แล้วย้ายบ้านไปอยู่พื้นที่เก็ตโฮ่

“พวกเราย้ายมาอยู่ตรงข้ามศูนย์กีฬาฯ ตรงซอยร้านติ่มซำชื่อดัง เพราะแม่ของป้าต้อยเคยมาอยู่ที่ภูเก็ต สมัยที่แม่ยังทำงานเหมืองแร่ในภูเก็ตก่อนจะมีป้าต้อย แม่เลยรู้จักคนแถวนั้นเพราะเคยมาเช่าบ้านอยู่ แล้วเราก็อยู่ที่นั่นจนป้าต้อยโต”

ป้าต้อยจบการศึกษาภาควิชาการในระดับชั้นประถมศึกษาปี ที่ 4

“ป้าต้อยไม่ได้เรียนหนังสือ จบแค่ ป.4 ที่โรงเรียนบ้านเก็ตโฮ่ เอกสารมันไม่พร้อม ป้าต้อยไม่มีใบสูติบัตรเลยต้องเรียนช้ากว่าคนอื่นเขา”

“โตมาประมาณ ป.3 ครอบครัวก็ย้ายบ้านมาอยู่สวน (บริเวณบ้านหลังปัจจุบัน) อยู่ฟรีไม่เสียค่าเช่าครอบครัวป้าต้อยจนมากเงินจะไปโรงเรียนก็ไม่มี ป้าต้อยอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน ตอนนั้นพ่อแม่ทำตะกร้าขายไม่ก็ร่อนแร่ตามเหมืองแร่ ป้าก็ร่อนแร่บ้าง ตัดยางบ้าง ทำงานมาหลายปีจนวันหนึ่งที่ป้าต้อยออกไปร่อนแร่ตามปกติ เพื่อนที่ร่อนแร่ด้วยกันเล่าให้ฟังว่าศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือเดิมเรียกศูนย์ฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่จะเปิดปี 2516 แต่ตอนที่ป้ารู้ก็ไปสมัครไม่ทันแล้ว พองบประมาณใหม่ปี 2517 ป้าเลยไปสมัคร สมัครไป 3 ครั้ง เพื่อเข้าเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าหลักสูตร 5 เดือน ป้าไปสมัครแต่ไม่ได้เข้าเรียนเลย เหตุผลที่ไม่ได้คือมีคนสมัคร 60 คนแต่มีอุปกรณ์ 10 ตัวเขาเลยรับแค่ 15 คน ป้าจับฉลากไม่ได้ ระหว่างนั้นป้าก็เรียนอย่างอื่นไปก่อน”

“ในที่สุดป้าต้อยไปร้องขอกับอาจารย์ที่สอนทำขนมให้ช่วยเราได้เข้าเรียน เพราะป้าเป็นคนตรงๆ ป้าบอกอาจารย์ว่าจริงๆ แล้วหนูอยากเรียนผ้าแต่ปีที่แล้วทั้งปีสมัครไม่ได้ เลยมาทำขนมกับอาหารอาจารย์ก่อน ก็บอกอาจารย์ไปแบบนั้น ว่าป้าตั้งใจจริงอยากเรียนจริงๆ เพราะเราไม่มีอาชีพ เรียนแค่ป. 4”

ป้าต้อยได้เข้าเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าสมใจ “แม้ชีวิตที่ผ่านมาจะอัตคัดแต่ชีวิตเราได้เจอแต่คนดีๆ และคราวนี้สมใจได้เข้าเรียน ป้าก็เรียนทุกอย่างที่มี ป้าเรียนหลักสูตรตัดผ้า 500 ชั่วโมง ป้าเรียนไม่เก่งและไม่ค่อยกล้าถาม เพราะหลังจากจบ
ป. 4 เราก็ไม่ได้จับหนังสือเลย เราออกมาจากโรงเรียนก็ทำงานร่อนแร่ ตัดยาง พอไปเรียนแล้วเราก็ไม่เข้าใจ ตอนนั้นอายุ 18 วิธีหาค่าจากสายวัดเราก็หารไม่เป็น โชคดีที่คุณครูผู้สอนมองเห็นว่าเราไม่เข้าใจและก็ไม่กล้าถาม”

“คุณครูถามว่า ต้อยหารไม่ถูกใช่ไหม เราก็ตอบว่าใช่ค่ะ ท่านบอกว่าต้อยก็พับสายวัดเอาสิ ถ้าเป็นอย่างตอนนี้ป้าคงใช้เครื่องคิดเลข แต่สมัยนั้นไม่มีเครื่องคิดเลขและปกติคนเขาก็หารกันได้ แต่เราหารไม่เป็น อาจารย์เลยสอนให้พับสายวัด สมมติว่ารอบสะโพก 36 นิ้ว ถ้าหาร 2 ก็ พับครึ่ง หาร 4 ก็พับอีกครึ่ง แล้วเราก็เริ่มเข้าใจพร้อมกับการบวกลบหลวม
ตามหลักแนะนำตามคำสอนของอาจารย์ เราเป็นคนช้า แต่ก็พยายาม”

พอเรียนจบ ป้าต้อยประกอบอาชีพ เริ่มจากทำขนมขาย

“เรียนจบมาเราทำงานทุกอย่างที่ได้เงิน เริ่มจากทำขนม เราทำแต่ไม่ได้ขายเองเพราะทำเลบ้านเป็นที่อับต้องเอาไปขายที่อื่น ป้าทำข้าวเกรียบไปฝากเขาขายและแบ่งเปอร์เซ็นต์กับทางร้าน อะไรก็ได้ที่ทำเป็นเราก็เอาไปฝากขายและก็ทำผ้าเอง สวยบ้างไม่สวยบ้าง พอมีงานวัดงานบุญเราก็ตัดผ้า ตัดเสื้อลูกไม้ใส่ไปวัด งานบุญ งานบวช งานตักบาตรเทโว พอเพื่อนเราเห็นว่าสวยเขาก็มาจ้าง เสริมสวยก็เรียนดัดให้แม่แล้วสวยคนเขาก็ให้ไปดัด พอไปดัดเราเป็นคนช้าเราก็เกรงใจเขาเราทำบนหัวเขา แต่ถ้าเราทำผ้าช้าก็อยู่ที่เราไม่เป็นไร”

“อายุ 19 เขามาขอแต่งงาน เพราะเป็นคนขยันเป็นคนเรียบร้อย แต่เราไม่ชอบไม่เคยคิดอยากมีครอบครัว ชีวิตเราลำบาก เพื่อนแต่งงานก็ได้ฟังเรื่องเล่าว่าแม่ผัวข่มเหงลูกสะใภ้ และเราก็โดนแกล้งเราไม่มีเพื่อน สมัยก่อนเวลาไปโรงเรียนเพื่อนๆ ในซอยรังแกเพราะเป็นคนอีสานเขาดูถูก เราไม่มีญาติพี่น้องมันเลยลำบาก ทำให้ไม่อยากมีครอบครัว เพราะคิดว่าเดี๋ยวเขาคงดูถูกว่าเราจนอีก แต่สุดท้ายก็ต้องแต่งงาน เพราะสมัยก่อนคนเขาจะนินทาถ้าเราไม่แต่งงาน”

“ความเป็นแม่” จุดเปลี่ยนในชีวิต “พอแต่งงานก็มีลูกคนแรก ป้าต้อยไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอกต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก พอมีครอบครัวเราก็ซื้อที่ปลูกบ้าน แต่ปลูกแค่ครึ่งเดียวก่อน ค่อยๆ ปลูกพอให้อยู่ได้ และรับตัดผ้าเรื่อยมา รับปะ
เปลี่ยนทรง มีคนมาจ้างอยู่เรื่อยๆ”

ป้าต้อยไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง
“ปี 2524 ไปเรียนผ้าเพิ่มอีก 300 ชั่วโมง ให้รู้งานที่ละเอียดมากขึ้น เพราะเราต้องอยู่กับลูกเราเลยอยากหาความรู้เพิ่มเติมและเอาดีด้านนี้”

“จากนั้นก็คิดการไกล ทำงานตัดผ้าบ้านๆ ไม่ได้อีกแล้วตังค์ไม่พอเลี้ยงลูก ลูกค้าบางคนก็ค้างค่าตัดผ้า เราอยากวางอนาคตที่ดีให้ลูก อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ ไม่ให้ต้องลำบากเหมือนเรา เลยเปลี่ยนตัวเองไปเช่าบ้านในเมืองเดือนละ 500 บาทหน้าร้านเสริมสวย ทำอยู่ได้ซักปีเจ้าของร้านเขามีลูกอ่อน และเด็กก็มาเล่นเข็มหมุดเรา พ่อเขาดุลูกเรา
เลยไม่สบายใจและย้ายไปอยู่หน้าวัดขจรรังสรรค์ชื่อร้านเสริมสวยดวงกมล เช่าอยู่หลายปี”

“ในระหว่างนั้นอาจารย์ก็จะคอยติดตามว่าทำงานเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็ถามเราว่าจะไปสอนที่ศูนย์ฯหรือเปล่า เราก็บอกว่าอาจารย์ไปในทันทีว่า ต้อย ป.4 จะไปสอนได้ไง ท่านบอกเราว่าเราทำได้ เพราะเรามีความชำนาญ เราสอนวิชาชีพไม่ได้สอนวิชาการ เราตอบตกลงจากนั้นก็เข้าอบรมก่อนเข้าสอน เราเป็นคนเดียวในรุ่นที่จบป. 4 ป้าต้อยสอนที่ศูนย์ปี พ.ศ. 2531 – 2539 พอสารพัดช่างเปิดเขายุบวิชาชีพเปลี่ยนเป็น กศน. หลังจากนั้นป้าต้อยก็ยังสอนอยู่ตามโอกาส เช่นทางเทศบาล อำเภอหรือจังหวัดมีงบมาเขาก็ให้เราไปสอน บางหลักสูตรก็ 10วัน วันละ 3 ชั่วโมง แล้วแต่งบประมาณ”

อยากหยิบยื่นโอกาสที่เราเคยได้รับส่งต่อให้ผู้อื่น
“ป้าต้อยอยากสอนให้ทุกคนมีอาชีพ เราเคยคิดว่าจะกลับไปอยู่อีสาน เพราะแถวนั้นมันบ้านนอกผู้คนลำบาก คิดว่าถ้าเราสามารถช่วยเขาให้มีอาชีพได้เหมือนเราชีวิตเขาคงได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตั้งใจว่าลูกโตเราจะกลับ แต่ก็เป็นไปไม่ได้เพราะป้าประสบอุบัติเหตุ ขามีปัญหาต้องผ่าตัด และเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2553 – 2554 โครงการบทบาทสตรีก็มีมา เฉพาะของบทบาทสตรีมี 9 โครงการ ป้าเลยได้รับงานสอนบทบาทสตรีและสอนอยู่เรื่อยมา”

“งานนี้ทำให้ป้าได้ส่งลูกเรียนหนังสือ ชีวิตของเปลี่ยนเพราะเรามีวิชาชีพ เมื่อก่อนตัดเครื่องแบบโรงแรมครั้งละเป็นร้อยชุดต้องรับคนมาช่วย ทำอยู่หลายปีจนลูกเรียนจบ สุดท้ายก็ย้ายมาอยู่ที่บ้าน รับงานมาทำเองเท่าที่ไหวไม่รีบเร่ง ป้าต้อยตัดชุดได้ทุกแบบแต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเน้นบาบ๋า ขอแค่นำแบบมาเราทำได้หมด ชีวิตเรามันอยู่กับผ้าไปแล้ว”
“เรารู้ตัวว่าชอบของสวยๆ งามๆ มาตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนตอนที่เห็นเพื่อนถักผ้าเช็ดหน้าระหว่างร่อนแร่ เราชอบมากและรู้เลยว่าตัวเองชอบงานแบบนี้ป้าต้อยคิดว่าคงจะอยู่กับงานนี้ตลอดไป จนกว่าจะทำไม่ไหว เห็นคนได้ใส่ชุดสวยๆ เรามีความสุข”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่