ภูเก็ตเตรียมหารือและแถลงข่าวแนวทางการจัดการจระเข้ลูกผสม “เลพัง” วันนี้

เอกภพ ทองทับ

วันศุกร์ ที่ 17 พฤศจิกายน 2560, เวลา 09:49 น.

ภูเก็ต - ผลตรวจดีเอ็นเอจระเข้เลพังเป็นลูกผสม ไม่สามารถปล่อยตามธรรมชาติได้ กรมประมงและกรมอุทยานฯเตรียมแถลงความชัดเจนบ่ายวันนี้ (17 พ.ย. 30) พร้อมเผยแนวทางดำเนินการ ด้าน ดร.ธรณ์วอนปชช.เข้าใจ ย้ำเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องทำตามหลักการ

จากรณีมีการพบจระเข้ขนาดใหญ่ที่หาดเลพัง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และหลบไปอยู่ในขุมน้ำขนาดใหญ่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ชุดไกรทองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งภาคเอกชน ร่วมกันจับจระเข้ตัวดังกล่าว ไว้ได้ในช่วงหัวรุ่งของวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม คลิก) และนำไปไว้ยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 5 ภูเก็ต (อ่านเพิ่มเติม คลิก) เพื่อการตรวจสอบ จนกระทั่งนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ และสัตวแพทย์จากมหิดล ได้ร่วมตรวจสุขภาพและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไปทำการตรวจสอบสายพันธุ์ที่แท้จริงว่า เลพัง เป็นจระเข้อะไร ระหว่างจระเข้น้ำเค็ม (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ก่อนที่อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงผลตรวจ DNA ของ “เลพัง” กับ ข่าวภูเก็ต เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า “จากผลตรวจดีเอ็นเอ เบื้องต้นพบว่าเป็นจระเข้ลูกผสมระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืด จึงไม่สามารถปล่อยจระเข้ตัวดังกล่าวกลับสู่ธรรมชาติได้ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ล่าสุดมีผลตรวจดังกล่าวได้ส่งกลับมาที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว โดยผลตรวจระบุชัดว่าจากการตรวจดีเอ็นเอ จระเข้ดังกล่าวเป็นพันธ์ลูกผสม(ไฮบริด)ระหว่างจระเข้น้ำจืดยามกับจระเข้น้ำเค็ม สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่ก้าวร้าว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลและปฏิบัติกับจระเข้เลพัง ดังนี้

1.ผลยืนยันทางพันธุกรรมเป็นจระเข้ลูกผสมและประวัติการพบเห็นในธรรมชาติบริเวณพื้นที่ไม่เคยมีการพบเห็น จระเข้น้ำเค็มมาก่อน จึงเชื่อว่าจระเข้ตัวดังกล่าวเป็นจระเข้ที่เกิดจากฟาร์ม หรือมีการเลี้ยง แต่หลุดออกไปสู่ธรรมชาติโดยไม่ทราบสาเหตุและแหล่งที่มา

2. เมื่อจระเข้ตัวดังกล่าวเป็นจระเข้พันธ์ผสม จึงไม่สามารถปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ หรือนำไปใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมจระเข้แท้ได้ และ 3.ทางออกของจระเข้ตัวนี้ถือเป็นทางออกของการฟื้นฟูจระเข้น้ำเค็ม โดยเป็นตัวกระตุ้นความตระหนักของการมีจระเข้อีกครั้งในแหล่งควบคุมที่เป็นแหล่งเดิมอย่างเช่นพรุไม้ขาวด้วยการทำพื้นที่แยกลูกจระเข้ผสมให้เป็นสัดส่วน นำจระเข้น้ำเค็มพันธุ์แท้ขนาดและจำนวนที่เหมาะสม เข้ามาเลี้ยงในบริเวณที่ควบคุมที่เป็นธรรมชาติโดยจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้อนุรักษ์และเพาะพันธ์จระเข้ของภูเก็ตต่อไป

ซึ่งจะมีการประชุมหารือถึงการดำเนินการใน เวลา 10.30 น. วันนี้ ก่อนจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการทั้งเรื่องผลการตรวจดีเอ็นเอและแนวทางในการดำเนินการในขั้นต่อไป ในเวลา 13.00 น. ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 5 (ภูเก็ต) ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

ขณะที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (“Thon Thamrongnawasawat” )ได้มีการโพสต์ข้อความ ว่า “ ยังจำจระเข้เลพังได้ใช่ไหมครับ ตอนนี้กรมประมงร่วมกับกรมอุทยาน พิสูจน์ DNA เรียบร้อยแล้วว่าเป็นจระเข้ลูกผสม จึงไม่สามารถจะปล่อยในธรรมชาติได้ กรมประมงจะจัดประชุมและแถลงข่าวบ่ายวันศุกร์นี้ที่ภูเก็ตโดยกรุณาให้เกียรติเชิญผมไปร่วม แต่ผมไม่สามารถไปได้เนื่องจากติดภารกิจสำคัญมาก แต่ฝากไอเดียกับท่านรองอธิบดีอุทยานไว้แล้วผมขอพูดต่ออีกนิดว่า ในตอนแรกที่พบเลพังและกรมประมงสามารถจับมาได้ ผมเป็นผู้สนับสนุนให้จับ โดยมีบางท่านอยากให้ปล่อยไว้ที่เดิมแต่ผมพิจารณาแล้วเห็นว่าจุดที่เราจับได้เป็นขุมเหมืองเก่าที่ปัจจุบันเป็นบ่อน้ำในโรงแรม 3 แห่ง ไม่ใช่สถานที่จระเข้จะอยู่ได้ เราไม่ได้จับจระเข้มาจากป่าเขาหรือทะเลที่ห่างไกลครับนอกจากนี้ เมื่อมีจระเข้ปรากฏในที่ชุมชน หลักการคือต้องจับมาพิสูจน์ให้แน่ชัด จากนั้นค่อยหาทางจัดการต่อไป เพื่อความปลอดภัยของผู้คนและความปลอดภัยของจระเข้ผลการพิสูจน์ก็ชัดเจนว่า เลพังเป็นจระเข้ลูกผสม ไม่ใช่จระเข้ธรรมชาติในช่วงนั้น มีหลายคนที่ต่อว่าผม รวมถึงเพื่อนๆ บางท่านที่รู้จักกันดี ยังให้ความคิดเห็นที่ผมรู้สึกแปลกใจผมไม่เคยโกรธทุกคน ผมทราบดีว่าทุกคนเป็นห่วงเลพัง แต่สำหรับผม เหตุผลต้องมาก่อน ความรู้สึกใดๆ เป็นเรื่องรอง มิฉะนั้น ผมไม่สามารถจะทำงานตามแนวทางของผมได้ อาจารย์ธรณ์จะเป็นอะไรก็ตาม สำคัญสุดคือผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมทำงานตามเหตุผล ตามข้อเท็จจริงซึ่งต้องได้รับการพิสูจน์ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่ชัด และให้เกียรติหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกรณีเลพังเป็นอีกหนึ่งครั้งทำให้ผมเชื่อมั่นในแนวทางเดิม และเชื่อในตัวเองว่า เราสามารถยืนหยัดได้เมื่อถึงเวลาที่ต้องยืน รอฟังข่าวจากกรมประมงในวันศุกร์ และมั่นใจว่ากรมจะหาทางออกดีที่สุดให้น้องเลพังครับ”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่