มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กำหนด 13 กุมภาฯ วันรำลึกถึง จิลล์ ดัลลีย์

ชุมชน - มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น วันสากล เพื่อรำลึกถึง จิลล์ ดัลลีย์ เนื่องในโอกาสครบรอบการจากไปของผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ ผู้ซึ่งทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างเต็มกำลังเพื่อช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจจัดในเมืองไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการรำลึกถึงจิลล์ ดัลลีย์ ทางมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยได้เปลี่ยนชื่อศูนย์พักพิงเป็น Gill Dalley’s Sanctuary อีกด้วย

วันพุธ ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561, เวลา 09:06 น.

จิลล์ และ จอห์น ดัลลีย์ เป็นคู่สามีภรรยาชาวอังกฤษซึ่งย้ายมาอาศัยที่ภูเก็ตในวัยเกษียณเมื่อปีพ.ศ. 2546 ทั้งสองวางแผนจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ แต่เมื่อได้มาเห็นสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์จรจัดที่มีอยู่ทั่วทุกมุมเมืองประมาณ 70,000 ตัวในขณะนั้น ทั้งสองจึงตัดสินใจเข้าช่วยเหลืออย่างจริงจัง โดยก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย และทำงานกันอย่างหนัก โดยไม่มีวันหยุด

“เราค่อนข้างตกใจ ที่ในตอนแรกได้เห็นว่าสุนัขและแมวจรจัดส่วนใหญ่ผอมแห้งเพราะอดอยาก หลายตัวมีแผลโรคผิวหนังและอยู่อย่างทรมาน อีกหลายตัวมีแผลเปิดใหญ่ที่อาจเกิดมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือโดนสุนัขตัวอื่นกัด หรืออาจจะโดนคนทำร้ายมา แผลของบางตัวเน่ามีหนอนไชและเป็นรูจากการติดเชื้อ สุนัขพวกนี้อาศัยอยู่ตามข้างถนนและไม่มีใครเหลียวแล เราอยากหาทางแก้ไขเพื่อให้สุนัขเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร เพราะดูแล้วเหมือนจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก” จอห์น ดัลลีย์ กล่าว

ในปีพ.ศ. 2547 ขณะที่ทีมงานกำลังจับสุนัขเพื่อนำมาทำหมันโดยการยิงลูกดอกยาสลบนั้น มีสุนัขตัวหนึ่งตกใจและวิ่งหนีลงปลักควาย จิลล์เห็นดังนั้นก็ รีบวิ่งตามไปติดๆ เพราะรู้ดีว่าสุนัขตัวดังกล่าวกำลังจะหมดสติในไม่ช้าและจะจมลงในปลัก การเข้าช่วยเหลือในครั้งนั้นทำให้จิลล์ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งในกระแสเลือด ทำให้เธออยู่ในอาการโคม่าในโรงพยาบาลนานถึง 6 สัปดาห์ และเป็นผลให้เธอต้องตัดขาทั้งสองข้าง และต้องใส่ขาเทียมในเวลาต่อมา

“มีคนจำนวนไม่มากที่สามารถทำความฝัน ความหวัง และจุดมุ่งหมายให้สำเร็จได้ และฉันจะไม่ยอมเป็นคนที่ต้องตายไปโดยยังมีคำว่า ‘ถ้า’ อยู่ให้ค้างคาใจ” จิลล์กล่าวไว้ในวีดิโอท่อนหนึ่ง

“ที่จริงฉันโชคดีมาก และผลการรักษาที่ออกมาก็ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว ฉันเสียแค่ขาทั้งๆ ที่ฉันควรจะเสียชีวิตไปแล้ว ฉันเลยคิดว่าฉันต้องดีใจมากกว่าที่ได้รับโอกาสให้ได้สานต่องานที่ฉันรัก”

ในปีเดียวกัน ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มที่คร่าชีวิตคนไปกว่า 200,000 ราย หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว จอห์นและจิลล์ก็ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือสุนัขที่ได้รับบาดเจ็บและหิวโหยตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจิลล์เองทำงานโดยใช้วีลแชร์ การออกพื้นที่ในครั้งนั้นทำให้มูลนิธิฯ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มีผู้สนใจบริจาคเงินช่วยเหลือ และสนใจเข้าเป็นอาสาสมัครร่วมกับมูลนิธิฯ จำนวนมาก

“สัตว์ก็รู้สึกเจ็บเหมือนๆ กับเรา ต้องการอาหาร ต้องการหมอเวลาเจ็บไข้ ต้องการที่นอนที่ปลอดภัย และใครสักคนที่รักพวกเขา สัตว์อื่นๆ ที่เป็นสัตว์ป่า จริงๆ แล้วก็ต้องการไม่ต่างกันนัก เพียงแต่สัตว์ป่านั้นไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้สร้างให้เกิดสุนัขในเมือง และสำหรับเราแล้ว มนุษย์เองควรรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา” จิลล์กล่าว

ในเวลาต่อมา จิลล์ป่วยเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 (อ่านเพิ่มเติม คลิก) แม้กระนั้น ความมุ่งมั่น ทุ่มเทของเธอ รวมทั้งปณิธานที่แน่วแน่และภารกิจที่ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลจะไม่สิ้นสูญ และจะได้รับการสานต่ออย่างตั้งใจโดยบุคลากรของมูลนิธิฯ ความพยายามที่จะส่งเสริมสวัสดิภาพสุนัขและแมวจรจัด เพื่อให้ทั้งสัตว์จรจัด และคนในสังคมมีชีวิตที่ดีร่วมกัน เริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนจากสุนัขและแมวจำนวนกว่า 150,000 ตัวที่ได้รับการทำหมันจากมูลนิธิฯ นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังให้การรักษาพยาบาลและจัดหาบ้านให้กับสุนัขและแมวจรจัดอีกด้วย โดยมูลนิธิฯ มีที่ทำการหลัก 2 ที่คือจังหวัดภูเก็ต และกรุงเทพมหานครฯ อีกทั้งยังมีรถให้บริการทำหมันและช่วยเหลือสัตว์จรจัดที่ออกให้บริการทั้งสองพื้นที่หลัก รวมถึงพื้นที่เกาะสมุย และมีเป้าหมายที่จะเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย

-มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่