“ลัคกี้” ผู้ช่วย ไลฟ์การ์ดหาดสุรินทร์ จากหมาข้างถนนสู่ความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง

ชุมชน - เช้าวันหนึ่ง ณ ชายหาดสุรินทร์ วันที่บรรยากาศนั้นดีมากๆ ท้องฟ้า หาดทราย สายลมสวยงามสมบูรณ์แบบ เป็นวันที่ฉันเองมีโอกาสได้พบกับลัคกี้ และได้เห็นภาพที่ลัคกี้กับคุณบิลเดินตรวจตราชายหาดทักทายผู้คน ลัคกี้เป็นสุนัขพันธุ์ไทยที่น่ารักมาก เขาแสดงความเป็นมิตรกับทุกคนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังปฏิบัติตามคำสั่งของบิลได้อย่างน่าประทับใจอีกด้วย

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันอาทิตย์ ที่ 10 ธันวาคม 2560, เวลา 14:00 น.

“ลัคกี้” สุนัขเพศผู้อายุ 1 ปีที่ใช้ชีวิตบนหาดสุรินทร์ ด้วยการขออาหารจากนักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าหรือผู้คนที่ผ่านไปมาบริเวณชายหาดที่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของภูเก็ตที่นักท่องเที่ยวผู้มีความชื่นชอบในความงดงามตามธรรมชาติของท้องทะเลต้องมาเยือนสักครั้ง เพื่อให้ได้สัมผัสถึงความงดงามของหาดทรายสีขาวและน้ำทะเลสีฟ้าเป็นประกายระยิบระยับเมื่อกระทบกับแสงแดดในวันที่อากาศแสนสดใส

“คุณบิล” ชายอายุ 59 ปี ผู้มีใจรักในกิจกรรมทางน้ำ และเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้อาสาช่วยงานไลฟ์การ์ดหาดสุรินทร์ด้วยความเต็มใจโดยไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ เป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปีแล้ว ด้วยความสามารถและประสบการณ์หลายปีของคุณบิลที่ได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาหลายสิบคนนั้น เขาเองไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาตัวเองและคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนทีมช่วยชีวิตชายฝั่งหาดสุรินทร์

“ผมมีความคิดเรื่องการรับเลี้ยงลัคกี้และเริ่มฝึกเขาเมื่อประมาณ 12 สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง ตอนนี้ยังอยู่ที่การฝึกเบื้องต้นอยู่เลย ก่อนหน้าที่จะรับเลี้ยงลัคกี้ ผมเคยเจอเขามาบ้างแล้วเวลาที่ผมลงมาที่ชายหาด ผมทักทายด้วยการลูบหัวเล่นกับมัน 2-3 ครั้งอยู่เหมือนกัน ลัคกี้ใช้ชีวิตบนหาดสุรินทร์ ดำรงชีวิตด้วยการขออาหารจากผู้คนที่ผ่านไปมา ผมคิดว่าเขาคงเกิดที่นี่หรือไม่ก็ถูกคนทิ้งเอาไว้ที่นี่ เคยเห็นมีคนพยายามจะจับลัคกี้ไปเลี้ยงที่บ้าน แต่ก็เอาไปไม่ได้ เพราะแม้ว่ามันขี้อายแต่ก็เป็นหมาที่ฉลาดและวิ่งเร็วมากทีเดียว” บิลกล่าว

“ผมลงมาที่ชายหาดเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในส่วนของอาสาทำไลฟ์การ์ดผมจะเน้นหนักในช่วงหน้ามรสุมมากกว่า เพราะผู้คนต้องการผมมากกว่าช่วงไฮซีซั่น ที่ทะเลค่อนข้างสงบ” เขากล่าว

“มีอยู่วันหนึ่งเขาเดินตามผมตลอดเลยนะ ตามไปทุกที่ ผมเดินตรวจตราชายหาดก็เดินตามไปไม่ห่าง ผมหยุดพูดคุยทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว เดินลงไปในน้ำเขาก็จะหยุดรอผม ผมก็แปลกใจเหมือนกันทั้งๆ ที่มีคนให้อาหารเขาตั้งมากมาย ไลฟ์การ์ดคนอื่นๆ ก็มีหลายคนทำไมเลือกเดินตามผม ถึงขั้นตามผมไปที่รถยนต์ ตอนผมเตรียมตัวจะกลับบ้าน ขับรถออกไปก็ยังเห็นว่าเดินตาม วันรุ่งขึ้นพอผมกลับมาที่ชายหาดลัคกี้ก็เข้ามาทักผม เหมือนจะพยายามพูดกับผม ผมรักหมานะกับบางตัวผมก็แพ้ แต่ไม่ใช่กับลัคกี้ ผมรู้ว่ามันมีอะไรบางอย่างระหว่างผมกับลัคกี้ที่ผมก็อธิบายไม่ถูก จนในที่สุดผมก็ตัดสินใจรับ
เลี้ยงเขา” 

บิลอธิบายว่า ลัคกี้ เป็นหมาที่ฉลาดมากเพียงการฝึกใน 12 สัปดาห์แรก เขาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะนอกจากลัคกี้จะเป็นหมาที่ปราดเปรียวและวิ่งเร็วมากแล้ว ยังเรียนรู้ไวมากอีกด้วย 

“ต้องเข้าใจว่าสุนัขข้างถนนที่ถูกทิ้งแบบไม่ใยดีพวกนี้จะมีบาดแผลในใจ บางครั้งก็เกิดมีแผลตามร่างกายจากการต่อสู่กับกลุ่มสุนัขเองหรือจากผู้คนที่ไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่ใกล้ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบหมาเหมือนผม ฉะนั้นการฝึกสุนัขพวกนี้จะยากกว่าพวกสุนัขสายพันธุ์ดีๆ ที่เหมาะแก่การฝึกและรับคำสั่งมากกว่าสุนัขที่ใช้ชีวิตข้างถนนพวกนี้ เพราะฉะนั้นการฝึกให้ลัคกี้อยู่ภายใต้การควบคุมนั้นจำเป็นอย่างมาก” 

บิลเคยมีประสบการณ์ในการฝึกสุนัขมาก่อน แต่เป็นพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์สีดำ(แบล็คแล็บ) ที่มีสัญชาติญาณในเรื่องการช่วยชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งสุนัขพันธุ์แท้เหล่านั้นรู้ในสิ่งที่บิลพยายามสอนสุนัขอย่างลัคกี้กว่า 70% เหมือนเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ซึ่งเมื่อเทียบกันกับสุนัขแบบลัคกี้แล้วมันแตกต่างกันมาก

“ผมเคยเก็บหมาข้างถนนมาเลี้ยงคู่กับหมาแบล็คแล็บของผมและมันเป็นอะไรที่น่ายินดีมาก เพราะว่าสุนัขที่ผมเก็บมาเลี้ยงพัฒนาได้มากจากการเลี้ยงคู่กับเจ้าลาบราดอร์ ทำให้ผมมีความคิดที่จะหาเพื่อนอีกตัวให้มาช่วยลัคกี้ และผมได้พูดคุยกับทางมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย เขามีหมา K9 ที่น่าจะเหมาะกับงานนี้ เจ้าตัวนี้เป็นเพศเมียอายุ 6 เดือน ผมพาลัคกี้เข้าไปหลายรอบแล้วและกำลังดำเนินการเรื่องการรับหมามาเลี้ยง และผมตั้งชื่อเธอว่าเรสคิว (“Rescue”) ตอนนี้ผมมองไว้ที่ 2 ตัวก่อน 

ผมทำการค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตบ้าง เคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับมีหมาสายพันธุ์ดี 2 ตัว ที่ได้เข้าฝึกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเวลา 2-3 ปี ซึ่งค่าฝึกนั้นแพงมาก หมาอย่างเจ้าลัคกี้ไม่มีทางได้เข้าไปฝึกในโปรแกรมแบบนั้นอย่างแน่นอน นี่คือสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” บิลกล่าว 

ลัคกี้เองยังอยู่ในช่วงการฝึกเบื้องต้น หรือที่คุณบิลเรียกว่าการฝึกในเฟสแรก โดยเขาได้ตั้งเป้าการฝึกไว้ที่ 3 ขั้นตอน คือ การฝึกเบื้องต้น จากนั้นก็ฝึกให้คุ้นชินกับน้ำ และฝึกการช่วยเหลือทางน้ำเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งบิลไม่ได้ตั้งกรอบเวลาที่แน่นอนเอาไว้ เพราะเขาต้องการดูสภาพและความพร้อมของลัคกี้เป็นสำคัญ

“ผมว่าอาจจะต้องให้เวลากับลัคกี้อีกสักสองเดือน ก่อนจะเริ่มฝึกในขั้นที่ 2 คือ การสอนเขาให้อยู่บนชายหาด ให้ชินกับน้ำและรู้จักสังเกต ให้เห่า ให้วิ่งไปถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือในน้ำ หมาตัวนี้ไวมาก ผมว่าถ้าวิ่งจากจุดไลฟ์การ์ดไปสุดหาดใช้เวลาไม่เกิน 20 วินาที” บิล กล่าว

“งานนี้จำเป็นและมีประโยชน์มาก เพราะบางครั้งพนักงานไลฟ์การ์ดเองก็อาจจะยุ่งหรือดูแลไม่ทั่วถึง อาจจะกำลังคุยหรือให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวคนอื่นอยู่ หลังจากเราฝึกขั้นตอนที่สองสำเร็จ เราก็จะทำขั้นตอนถัดไป คือการซื้อเครื่องช่วยลอยสำหรับสุนัขซึ่งจะติดกับชุดเชือกของเขา โดยหมาจะเอาอุปกรณ์ช่วยชีวิตวิ่งออกไป ว่ายลงไปในน้ำไปที่ตัวเหยื่อให้เกาะและลากขึ้นมาจากน้ำได้ อย่างน้อยก็ให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือมีที่เกาะก่อนที่เจ้าหน้าที่ของเราจะไปถึง แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นผมก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”  

“การฝึกสุนัขให้ช่วยเหลือทางน้ำก็มีการทำอยู่บ้างในต่างประเทศ แต่พวกนั้นจะเป็นหมาสายพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ หรือ ลาบาดอร์รีทรีฟเวอร์ พวกเขาจะถูกฝึกให้อยู่กับน้ำเพื่อทำการช่วยเหลือ การลงไปในน้ำพร้อมอุปกรณ์สำหรับหมาพวกนั้นมันไม่ได้ยากเลย แต่ไม่ใช่สำหรับลัคกี้”

“ในยุโรปหรือสแกนดิเนเวียร์ เขาก็มีการฝึกสุนัขช่วยชีวิต แต่จะให้หมาพวกนั้นอยู่ในเรือที่ลอยในทะเล ที่นี่เรามีคลื่นทั้งใหญ่และเล็ก แบล็คแล็บที่ผมเคยเลี้ยงมันว่ายน้ำไปคลื่นใหญ่ได้ ถามว่าลัคกี้ทำได้ไหม ผมก็ยังไม่รู้ เท่าที่ผมรู้ยังไม่เคยมีใครพยายามฝึกหมาให้วิ่งจากชายหาดเหมือนที่ผมกำลังทำ”

บิลกล่าวอีกว่า แม้ลัคกี้จะไม่สามารถไปถึงยังเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งเอาไว้ แต่ในวันนี้ก็ถือได้ว่าเขามาไกลมากแล้ว 

“ถึงเราจะทำได้แค่การฝึกในระยะที่ 1 ผมก็ถือว่ามันคือความสำเร็จ เพราะมีผู้คนมาจากทั่วโลกมาเที่ยวที่แห่งนี้ ยิ่งช่วงหน้ามรสุมเราต้องให้คำแนะนำกับผู้คนเหล่านั้น คุณไม่ควรทิ้งปัญหาทุกอย่างไว้กับไลฟ์การ์ด คุณต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย ฉะนั้นเราต้องป้องกันตัวเองก่อนที่เรื่องจะเกิดขึ้น ซึ่งลัคกี้กับผมเองก็กำลังทำในส่วนนั้นอยู่”

“เวลาที่ลัคกี้ลงไปเดินตรวจตราชายหาดกับผมมันวิเศษมาก เรื่องของเรื่องคือถ้าไลฟ์การ์ดไม่ใส่ชุดคนก็ไม่รู้ว่าเราคือใคร และถ้าเราใส่บางคนก็อาจจะกลัว ทำให้เขาไม่ค่อยสบายใจที่จะพูดคุยกับเรา แต่หมาตัวนี้ก็ช่วยผมได้มาก มันช่วยให้คนสนใจเรามากขึ้น และผมก็จะพูดคุยกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น”

คุณบิลเข้าใจว่าปัญหาที่เขาพาลัคกี้ออกวิ่งสำรวจชายหาดคือบางคนที่ไม่ชอบหมาอาจจะไม่พอใจ แต่เขาก็ใช้ประสบการณ์บนชายหาดมากกว่า 5 ปีของเขาตัดสินได้ว่าใครชอบหรือไม่ชอบสุนัข

“หมาตัวนี้ถูกทอดทิ้ง คนบางคนคิดว่านี่คือสิ่งที่ไม่มีคุณค่า ถ้าไม่ต้องการแล้วก็แค่ทิ้งไป แต่บางคนเขากลับชอบที่จะนำของเก่าที่คนอื่นทิ้งไปแล้วมาเพิ่มคุณค่า ผมคิดว่าเรื่องนี้มันก็ไม่ต่างกัน ผมมองเห็นคุณค่าตัวลัคกี้ ผมตั้งใจจริงในการทำเรื่องนี้ ผมออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ลัคกี้ไม่ได้ทำให้ผมต้องลงทุนหรือสูญเสียอะไรมากมาย ผมได้ลัคกี้มาฟรีๆ ชุดก็ไม่ได้แพง ต้องเสียไปบ้างก็คือที่อยู่ให้เขา อาหาร ความรัก กับเวลาเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ก็ต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่ด้วยกันทั้งนั้น” คุณบิล กล่าว

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่