ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้สำรวจแนวปะการังบริเวณเขาหน้ายักษ์ และหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา จากการสำรวจพบว่าแนวปะการังเขาหน้ายักษ์มีสภาพสมบูรณ์ดี ส่วนแนวปะการังหาดท้ายเหมืองมีสภาพเสียหาย ชนิดปะการังที่พบส่วนใหญ่ เช่น ปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังวงแหวน (Dipsastraea spp.) และปะการังเขากวาง (Acropora spp.) การลงเกาะของตัวอ่อนปะการังที่พบส่วนใหญ่ เช่น ปะการังโขด ปะการังเขากวาง และปะการังช่องเหลี่ยม อุณหภูมิน้ำทะเลวัดได้ 29 องศาเซลเซียส ปะการังมีการฟื้นตัวจากการฟอกขาว และปะการังตายจากการฟอกขาวอยู่ในระดับต่ำ สิ่งมีชีวิตที่พบส่วนใหญ่ในแนวปะการัง เช่น ปลาสลิดหิน ปลากล้วย ปลานกแก้ว ปลาผีเสื้อ เม่นรู ดาวทะเล ทากเปลือย และปูปะการัง
โรคปะการังที่พบส่วนใหญ่ เช่น โรควงฟอกขาวในปะการังโขด (Porites spp.) และพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อเปลี่ยนสีในปะการังโขด (Porites spp.) และปะการังดาวเล็ก (Cyphastrea spp.) อีกทั้งยังมีรอยกัดกินและการเจาะไชของสัตว์น้ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคได้ ขยะในแนวปะการังที่พบส่วนใหญ่เป็นขยะตกค้างจากกิจกรรมการทำประมง เช่น เชือก สายเส้นเอ็นตกปลา และกระป๋อง