ก่อนเริ่มประเพณีถือศีลกินผัก ทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2567 โดยมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยทางคณะกรรมการได้ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเรื่องการสาธารณสุข ให้กำชับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องความสะอาดทั้งเรื่องของศาลเจ้า และเรื่องของอาหารที่นำมาปรุง ขอให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ รวมถึงในส่วนของการเยี่ยมอ๊ามให้มีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมด้วย รวมถึงเรื่องของม้าทรงขอความร่วมมือไม่ให้มีเผยแพร่ภาพที่หวาดเสียวมากเกินไป อีกทั้งเรื่องการจุดพลุ ประทัดให้ฝ่ายปกครอง ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ยังได้ฝากเรื่องของป้ายการประชาสัมพันธ์ของ อปท.ต่าง ๆ ให้จัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อยหลังเสร็จสิ้นการจัดงาน ส่วนสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้กวดขันควบคุมราคาสินค้าให้มีการแสดงป้ายที่ชัดเจน โดยประธานที่ประชุมกล่าวทิ้งท้าย ขอให้ร่วมกันรักษาศีล รักษากฎหมายในงานประเพณีถือศีลกินผักประจำปี 2567 อันเป็นประเพณีที่ดีงามและเก่าแก่ของชาวจังหวัดภูเก็ตซึ่งได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปี ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าร่วมประเพณี
สำหรับในปีนี้ ก่อนที่จะได้มีการเริ่มประเพณียิ่งใหญ่ ชาวภูเก็ตและชาวไทยก็ได้รับข่าวดีส่งตรงจากสหรัฐอเมริกา ที่ต้องจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย และเป็นความภูมิใจของชาติ เมื่อจังหวัดภูเก็ต คว้า 2 รางวัลใหญ่ในเวทีระดับโลก โดย “ภูเก็ต” คว้ารางวัลเมืองเทศกาลโลก 2024 ในขณะที่ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” คว้ารางวัลสูงสุด Grande Pinnacle จากเวที IFEA
ในปีนี้ “ภูเก็ต” คว้า 2 รางวัลใหญ่ โดยรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวภูเก็ตและคนทั้งชาติก็คือรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในทุกมิติสำหรับการเป็นเมืองเจ้าภาพแห่งงานอีเวนต์และเทศกาลในระดับโลก และนอกจากรางวัลเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก” ยังสามารถคว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงานนี้ที่มอบให้โดย International Festivals & Events Association : IFEA ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานอีเวนต์ทุกประเภททั่วโลก รางวัลนี้เปรียบเสมือนออสการ์ของวงการอีเวนต์เลยทีเดียว
นอกจาก ภูเก็ตจะได้รับการประกาศเป็นเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ยังคว้ารางวัลสูงสุด Grand Pinnacle จากเวทีเดียวกันมาได้อีกด้วย โดยสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (IFEA) ได้พิจารณาจากองค์ประกอบของเทศกาลที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด และที่สำคัญคือต้องเป็นงานเทศกาลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร แม้ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ - 9 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลกินเจที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ก็มี 9 ไฮไลท์หลักที่ทำให้ ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต กลายเป็นเทศกาลที่หาที่ไหนไม่ได้บนโลกนี้ คือ
1. ประเพณีที่มีประวัติยาวนาน และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นกันมาเกือบ 200 ปี 2. ศูนย์รวมแห่งพิธีกรรมและประเพณี 3. รวม Gen รวมใจ ประเพณีถือศีลกินผักถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวภูเก็ตที่ในหนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียว 4. ภูเก็ตไม่ได้มีดีแค่ทะเล ยังเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก 5. พิธีกรรมทุกพื้นที่ เพื่อทุกคนได้เข้าถึง เพื่อให้ชาวเมืองภูเก็ตทุกคนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้อย่างแท้จริง 6. เทศกาลกินผักที่รักษ์โลก เทศกาลถือศีลกินผัก กินเวลาไปนานกว่า 9 วัน 7. ประเพณียิ่งใหญ่ ส่งคืนพื้นที่ไว 8. ถือศีลกินผัก ได้บุญ ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ และ 9. ภูเก็ต - เมืองเทศกาลโลก และ Grand Pinnacle
และการที่ในปีนี้ ภูเก็ต คว้าถึง 2 รางวัลใหญ่จากสมาคมเทศกาลระดับโลกอย่าง IFEA นั้น ถือเป็นการรันตีว่า ภูเก็ต มีศักยภาพในการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมผ่านงานเทศกาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจากทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบาย Festival Economy ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดงานเทศกาล พร้อมยกระดับประเพณี ถือศีลกินผัก ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น (Homegrown) ให้กลายเป็น Flagship Event หรืองานเทศกาลประจำปีที่ยกระดับให้ ภูเก็ต ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นเมืองอีเวนต์ระดับนานาชาติอย่างเต็มตัว
ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์