คืบหน้าไลฟ์การ์ดส่อทุจริต ภาค 8 ส่งต่อสำนวนให้ ป.ป.ช.

ภูเก็ต - ตำรวจภูธรภาค 8 ยืนยันแล้วว่า สำนวนคดีในข้อกล่าวหาฐานทุจริตสัญญาจัดซื้อจัดจ้างไลฟ์การ์ดของจังหวัดภูเก็ต ให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว หลังจากที่ได้มีข้อร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบการทุจริตการรักษาความปลอดภัยชายหาด มายังตำรวจภูธรภาค 8 เกี่ยวเนื่องกับบริษัทที่ได้ถูกว่าจ้าง (อย่างน่าสงสัย) และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยตามแนวชายหาดจังหวัดภูเก็ต

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 29 กันยายน 2561, เวลา 09:00 น.

ซึ่งก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.มนต์ศักดิ์ ศรีสุวรรณ์ รอง ผกก.สส.2 บก.สส.ภ.8 ได้เปิดเผย ในขณะกำลังสอบปากคำพยานถึงข้อร้องเรียนดังกล่าว ณ สภ.กมลา ว่าการสอบสวนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ร้องเรียนในนาม “ชมรมคนรักท้องถิ่น” ยื่นข้อร้องเรียนมาที่ ภ.8 โดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 รับทราบเรื่องและมีคำสั่งการในวันที่ 31 พ.ค. ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในทันที (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานและสืบสวนหาข้อเท็จจริง ในประเด็นคำถามที่ว่า “ทำไมภาครัฐจึงดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ไม่มีความพร้อม และไม่ได้มาตรฐานตามข้อเสนอที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา” โดยได้สอบสวนพยานหลายสิบราย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อดีตไลฟ์การ์ด เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการชายหาด และพยานที่เกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ

ซึ่งก่อนที่จะมีการสรุปสำนวนส่ง ไปยังป.ป.ช.นั้น พ.ต.ท.มนต์ศักดิ์ ก็ได้ระบุว่า จากหลักฐานที่มีอยู่ในมือนั้น ดูเหมือนว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวมีมูลความจริงและส่อเค้าการทุจริต

“ภูเก็ตคือแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ หากยินยอมให้มีไลฟ์การ์ดที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีคุณสมบัติเพียงพอมาปฏิบัติหน้าที่ มันจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้ และหวังว่าหน่วยงานภาครัฐจะมองว่าความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว เพราะการมีไลฟ์การ์ดที่มีคุณภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญ” พ.ต.ท.มนต์ศักดิ์ กล่าว

จากนั้น พ.ต.อ.อานนท์ เดชรักษา รอง ผบก.สส.ภ.8 ก็ได้จัดการแถลงความคืบหน้า ในกรณีดังกล่าว เมื่อวันอังคารที่ 18 ก.ย. ว่าข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกรณีตรวจสอบการจัดจ้างไลฟ์การ์ดได้ถูกส่งมอบให้ ป.ป.ช. แล้วตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ยืนยันแล้วว่าได้รับข้อมูลทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ซึ่งนับจากนี้ ป.ป.ช.จะเป็นผู้ดำเนินการสืบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

และเมื่อไม่นานมานี้ International Surf Lifesaving Association (ISLA) องค์กรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายฝั่งระดับโลกก็ได้ส่งจดหมายแสดงความห่วงใย ระบุว่า “จังหวัดภูเก็ตมีชายหาดเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายฝั่งหรือไลฟ์การ์ดที่ได้รับการฝึกฝนและสามารถทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้จริง นั่นก็คือหาดในหาน และหาดป่าตอง พร้อมระบุว่าภูเก็ตมีการปักธงแดงมากจนเกินไป การทำเครื่องหมายสำหรับพื้นที่ว่ายน้ำปลอดภัยด้วยธงเหลือง-แดง หมายความว่าเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดจัดที่ให้นักท่องเที่ยวได้ว่ายน้ำ ถือเป็นการป้องกันในงานไลฟ์การ์ดอย่างหนึ่ง แต่การไม่สนใจแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางน้ำเหล่านี้ถือเป็นสูตรสำเร็จของความหายนะ”

ด้านนายประทัยยุธ เชื้อญวน ประธานชมรมไลฟ์การ์ภูเก็ต และ เลขาธิการสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ ประเทศไทย ก็ได้กล่าวเสริมอีกว่า ทะลในช่วงเดือนตุลาคมนั้นถือว่ายังคงมีความอันตราย เนื่องจากยังอยู่ในฤดูมรสุม และสภาพอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากท้องฟ้ามืดครึ้มเป็นท้องทะเลสดใสเพียงข้ามวัน

“ทะเลเดือนตุลาคมยังถือเป็นฤดูมรสุม คลื่นและกระแสน้ำค่อนข้างจะแรงอยู่ กอปรกับบ้านเราที่มีนักท่องเที่ยวตั้งใจมาเล่นน้ำ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ทราบสภาพของทะเล และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิต”

ตุลาคมถือเป็นรอยต่อช่วงก่อนหมดฤดูมรสุมและไฮซีซั่น “ในวันที่อากาศดี ไลฟ์การ์ดต้องให้บริการเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะบางครั้งฝนตกติดต่อกันหลายวัน ซึ่งเมื่อใดที่อากาศสดใส นักท่องเที่ยวก็จะพร้อมใจกันลงมาเล่นน้ำทะเล จากประสบการณ์ที่เคยทำเราจะพบว่าช่วงนี้จะยุ่งมาก เพราะราคาที่พักจะยังไม่สูงมากนัก และมีปริมาณฝนที่น้อยลง กอปรกับเป็นช่วงวันหยุดตรุษจีน ทั้งยังมีนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นเดินทางเข้ามา ทำให้กลายเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดช่วงหนึ่งของการทำงาน” นายประทัยยุทธ อธิบาย

“นอกจากนี้ เรายังพบว่าบางหาดอาจจะมีกระแสน้ำไปถึงช่วง พ.ย.-ธ.ค. โดยเฉพาะหาดในหานที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ”เขากล่าว

“สิ่งจำเป็นคือหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องจัดพื้นที่ปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำ เพราะหากเราไม่จัดพื้นที่ว่ายน้ำให้นักท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวจะเล่นในจุดที่เขาอยากเล่น ซึ่งก็รวมถึงจุดอันตรายที่มีกระแสน้ำ งานบริการของไลฟ์การ์ด คือดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว จัดโซนให้นักท่องเที่ยวได้ว่ายน้ำภายใต้การเฝ้าระวังตลอดเวลา”

ประธานชมรมไลฟ์การ์ดภูเก็ต ยังกล่าวอีกว่า ทางภาครัฐและท้องถิ่นเองต้องดูแลความปลอดภัยทางน้ำให้เต็มที่ รวมทั้งร่วมมือกับทางโรงแรมและบริษัทนำเที่ยว เพื่อให้ความรู้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ขาดประสบการณ์และความรู้ในสภาพทะเลของภูเก็ต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจังหวัดต้องจัดหน้าที่ไลฟ์การ์ดลงไปบริการอย่างเต็มรูปแบบ ตัวไลฟ์การ์ดเองต้องมีทักษะในการช่วยเหลือ รวมถึงอุปกรณ์ที่พร้อมและมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่มีปัญหาเจ้าหน้าที่สามารถนำเรือเจ็ทสกีออกไปช่วยเหลือได้ และมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งมีจุดให้บริการข้อมูลหรือหอไลฟ์การ์ดที่นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ในกรณีที่ต้องการขอความความช่วยเหลือ” นายประทัยยุทธ กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่