ปิดอ่าวมาหยา 4 เดือน ฟื้นฟูธรรมชาติบนบกและใต้ทะเล หลังพบซากปะการังตายเรียบบริเวณเรือเข้าออก

กระบี่ - กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดอ่าวมาหยาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและใต้ทะเล 4 เดือน สิ้นสุดเดือนกันยายน พร้อมปรับปรุงระบบเข้าอ่าวมาหยาใหม่ทั้งหมด อธิบดีเผย แต่ละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 3-4 พันคน นอกจากนี้ยังพบซากปะการังแตกหักจนไม่เหลือปะการังที่มีชีวิตเลยบริเวณพื้นและแนวปะการังบริเวณใกล้ชายหาดที่มีเรือเข้าออกตลอดเวลา

ข่าวภูเก็ต

วันพุธ ที่ 16 พฤษภาคม 2561, เวลา 14:19 น.

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ประกาศปิดอ่าวมาหยาในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและใต้ทะเลช่วงฤดูมรสุม 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 30 กันยายน 2561 ห้ามทำกิจกรรมการท่องเที่ยวบริเวณอ่าวมาหยาโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำเรือเข้ามาลอยลำนอกบริเวณแนวทุ่นไข่ปลาที่กั้นแนวเขตห้ามเข้าไว้ เนื่องจากทรัพยากรแนวปะการังบริเวณอ่าวมาหยาเสียหายอย่างมากจากกิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ เช่น กิจกรรมการดำน้ำตื้น การทิ้งสมอเรือ การเข้า-ออกของเรือสปีดโบ้ทและเรือหางยาวเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเฉลี่ย 3,000 – 4,000 คน

นายธัญญา กล่าวอีกว่า บริเวณใกล้ชายหาดที่มีเรือเข้าออกตลอดเวลาพบซากปะการังแตกหักบริเวณพื้นและแนวปะการัง ทำให้ไม่มีปะการังที่มีชีวิตเหลืออยู่เลย ทั้งนี้ จะเริ่มทำการก่อสร้างสะพานเทียบเรือและทางเดินบริเวณด้านข้างตรงอ่าวโล๊ะซามะ แล้วปิดไม่ให้เรือวิ่งเข้าออกบริเวณหน้าอ่าวมาหยาอย่างถาวร โดยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอ่าวมาหยาผ่านทางอ่าวโล๊ะซามะเท่านั้น เพื่อกำหนดและควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวันไม่ให้เกิน 2,000 คน และฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับคืนความสมบูรณ์มากที่สุด

ด้านนายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ได้นำทีมวิศวกรและสถาปนิกลงพื้นที่เพื่อออกแบบสะพานและทางเดินให้เหมาะสม กลมกลืนกับสภาพพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด พร้อมกันนี้ จะดำเนินการจัดทำแปลงอนุบาลปะการัง โดยพิจารณาใช้วิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น การขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธี coral propagationเป็นวิธีการที่ง่ายและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ ด้วยการนำเศษปะการังที่แตกหักมาใช้ขยายพันธุ์ และการทำ coral tree เพื่อเตรียมกิ่งพันธุ์สำหรับใช้ในการปลูกขยายพันธุ์ปะการัง

- สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่