“การเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่กับคนในพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงด้วย” ปภ.ระบุ
วิธีเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ
ก่อนเกิดเหตุ : เรียนรู้เรื่องสึนามิ เส้นทางหนีภัย และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ
ระหว่างเกิดเหตุ : ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควรรีบอพยพและหนีไปยังจุดปลอดภัยทันที
หลังเกิดเหตุ : ติดตามประกาศของราชการอย่างต่อเนื่อง และไม่กลับไปยังจุดที่เสี่ยงอันตราย จนกว่าจะได้รับยืนยันว่าปลอดภัย
“ดังนั้นการเตรียมตัวและเรียนรู้ถึงวิธีรับมือกับสึนามิจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตเราไว้ได้”
ด้านอาจารย์ธรณ์เตือนว่าอย่าตื่นตระหนก แต่ควรเตรียมตัวให้พร้อม เฝ้าระวัง ซ้อมเตือนภัย/ซ้อมอพยพ และต้องมีการพูดคุยซักซ้อมกับคนในครอบครัว ว่าจะทำอย่างไรในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และศึกษาดูเส้นทางหนีภัยใกล้ตัว
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรืออาจารย์ธรณ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อธิบายเหตุแผ่นดินไหวเป็นระยะที่ภูเขาไฟใต้น้ำในทะเลอันดามัน ซึ่งระบุว่า เมื่อพูดถึงสึนามิที่ต้องระวังคือฝั่งทะเลอันดามัน
“ลูกหลานที่อยู่โรงเรียน ต้องพูดคุยกับคุณครูให้ชัดเจน โรงเรียนควรมีแนวทางฉุกเฉินบอกผู้ปกครอง ไม่ใช่ขับรถไปติดกองกันหน้าโรงเรียน”
และสุดท้าย อ.ธรณ์ เน้นย้ำว่า อย่าเชื่อข่าวลือใด ๆ และขอให้ติดตามข้อมูลจากหน่วยงาน/นักวิชาการที่เชื่อถือได้ เป็นผู้ที่ศึกษาทำงานด้านนี้