นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องประชุมจันพันวา ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เชี่ยวชาญของบริษัท CWEG จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 67
โดยในที่ประชุม นาย Lili Gan ตำแหน่ง Deputy General Manager Department of International Business กล่าวถึงความแตกต่างในการจัดการบำบัดน้ำเสียระหว่างจีนและภูเก็ต โดยที่จีนมีการบำบัดน้ำเสียจากท่อรวมซึ่งไม่ปะปนกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ในขณะที่ภูเก็ตต้องเผชิญกับปัญหาน้ำเสียที่ปะปนกับน้ำฝนหรือน้ำในลำคลอง ทำให้การวางแผนบำบัดน้ำเสียต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ซึ่งเสนอทางเลือก 2 แนวทางคือ การสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ศูนย์กลาง หรือการวางระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ในพื้นที่ที่ต้องการ
โอกาสนี้ นายโสภณ เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตได้ร่วมมือกับบริษัท CWEG ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากจีน เพื่อพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย โดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำเสีย จำนวนครัวเรือน และลักษณะพื้นที่เป็นฐานในการออกแบบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากจีนจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการออกแบบระบบ ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียใน 9 แห่ง โดยนำร่องที่ตำบลกะรนซึ่งมีความพร้อมที่สุด จากนั้นจะขยายโครงการไปยังพื้นที่ตำบลกมลา ตำบลเชิงทะเล ตำบลสาคู และตำบลศรีสุนทร การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยการวางระบบใต้ดินจะช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้ประโยชน์บนดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภูเก็ตเยือนจีน
สำหรับการประชุมหารือในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของจังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยนายโสภณได้นำคณะผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ เอกชนเยือน 3 เมืองหลักของจีน เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนด้านการบริหารจัดการระบบน้ำเสียและระบบกำจัดขยะ
ช่วงระหว่างวันที่ 16-20 ส.ค. 67 คณะผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เดินไปศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการระบบน้ำเสียและระบบกําจัดขยะที่เมืองเฉิงตู เมืองกุ้ยโจว และเมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเยี่ยมชมและหารือกับ CWEG ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบําบัดน้ำเสีย โดยมีผู้บริหารของบริษัทให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมบริษัท ชมโครงการโซลาร์เซลซ์ และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่ายและเยี่ยมชมพร้อมหารือกับ SUS Environment บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านระบบกําจัดขยะ เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนําทั้ง 2 ระบบ มาใช้ในจังหวัดภูเก็ตในอนาคต
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารจังหวัดภูเก็ตยังได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ จะสามารถนำระบบการบริหารจัดการน้ำเสียและขยะที่ได้ศึกษา มาใช้ในการจัดการน้ำเสียและขยะของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
น้ำเสียกะรน
สำหรับตำบลกะรนที่จะกลายมาเป็นตำบลนำร่องของโครงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียในท้องถิ่นนั้น เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สื่อโซเชียลได้มีการโพสต์ภาพน้ำสีดำไหลลงทะเลหาดกะรน จุดหนองหาน (16 ม.ค. 67) ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความแตกตื่นและวิ่งขึ้นจากทะเล โดยชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเชื่อว่าเป็นการลักลอบปล่อยน้ำเสียของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
จากนั้น ทางเทศบาลตำบลกะรนพร้อมเจ้าหน้าที่งานบำบัดน้ำเสีย ได้ลงพื้นที่ที่เป็นบ่อบำบัดน้ำเสียของ ทต.กะรน ก่อนปล่อยน้ำลงสู่ทะเล โดยทางเจ้าหน้าที่งานบำบัดน้ำเสียได้ทำการทดสอบน้ำ ด้วยการตักน้ำขึ้นมาจากบริเวณหนองน้ำที่มีสีดำก่อนปล่อยลงทะเลใส่ในกรวยแก้วใส ซึ่งพบว่า น้ำดังกล่าวใสและไม่มีตะกอนเหมือนในภาพที่ออกไปแต่อย่างใด
โดยในขณะนั้น เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน ยืนยันว่า น้ำที่ไหลออกจากแหล่งบำบัดน้ำเสียของเทศบาล มีการบำบัดตามมาตรฐาน เนื่องจากมีบริษัทดูแลให้น้ำมีคุณภาพที่ดีก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนภาพที่เห็นว่าเป็นน้ำเสียออกไป ว่าน่าจะเกิดจากตะกอนที่ตกอยู่ที่ท้องคลองหรือก้นคลอง เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นไปทำให้การขยับของทรายหรือตะกอนต่าง ๆ ขึ้นตามไปด้วย และพอน้ำทะเลลง น้ำที่ขังอยู่มาก ๆ ข้างบนก็ไหลลงไปทำให้ตะกอนที่อยู่ใต้ท้องคลองไหลลงไปด้วย ทำให้ดูเหมือนน้ำเสียเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีตำบลกะรน ได้ขออภัยต่อภาพลักษณ์ที่ออกไป ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัด และแจ้งว่าจะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
ที่มา: สำนักงาน ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต