ผู้เชี่ยวชาญเผยแนวทางการจัดการและแก้ปัญหาการจมน้ำภูเก็ต

ประธานสหพันธ์ช่วยเหลือชีวิตทางน้ำนานาชาติ (International Life Saving Federation: ILSF) เกรแฮม ฟอร์ด เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายฝั่งหรือไลฟ์การ์ดของจังหวัดภูเก็ต ได้รับการฝึกอบรมตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะได้รับรู้และตระหนักถึงอันตรายของการจมน้ำเสียชีวิตที่ชายหาดในภูเก็ต พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดลำดับความสำคัญให้ไลฟ์การ์ดได้อยู่ในอันดับต้น ๆ

ธัญลักษณ์ สากูต

วันเสาร์ ที่ 26 ตุลาคม 2562, เวลา 09:00 น.

ในฐานะประธานของ ILS นายฟอร์ด คือผู้นำองค์กรที่เป็นตัวแทนของ 130 ประเทศ และมีสมาชิกมากกว่า 30 ล้านคนทั่วโลก เขาได้พูดคุยกับ The Phuket News ถึงเรื่องนี้ในงานประชุมเพื่อป้องกันการจมน้ำโลก ณ เมืองเดอร์เบน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาเองได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า บทบาทของไลฟ์การ์ดมืออาชีพนั้นมีความสำคัญมากกว่าที่หลายคนคาดคิด

“ไลฟ์การ์ดของจังหวัดภูเก็ต ไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่นั่งอยู่บนชายหาด พวกเขาต้องเป็นคนที่มีความกระตือรือร้น และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้” เขากล่าว “เพราะไลฟ์การ์ดตัวจริง ไลฟ์การ์ดมืออาชีพ จะจ้องมองไปยังน้ำทะเลเสมอ เพื่อดูว่ารอบตัวของเขามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง พวกเขาจะต้องตรวจตราอยู่ตลอดเวลา ต้องมั่นใจว่าไม่มีใครที่กำลังเผชิญกับปัญหาทางน้ำ และหากมีผู้ใดกำลังประสบภัย พวกเขาจะต้องลงไปช่วยเหลือขึ้นมา”

“มากไปกว่านั้น ไลฟ์การ์ดในภูเก็ตจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมในระดับสากลและผ่านการรับรอง เพราะพวกเขาต้องได้รับการฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำ CPR และทักษะอื่น ๆ” เขากล่าวเสริม

ทางด้านนายจัสติน สการ์ ประธานคณะกรรมการป้องกันการจมน้ำ ILS ก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของการฝึกการช่วยชีวิตทางน้ำ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ ว่าเป็นหลักการสำคัญในการป้องกันปัญหาการจมน้ำของจังหวัดภูเก็ต ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

“ILS และ WHO ได้สร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องการจมน้ำ และวิธีป้องกันในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลก เพื่อเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำทั่วโลก” นายจัสติน กล่าวกับ The Phuket News

การประชุมในครั้งนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของโลก นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบาย ในการป้องกันการจมน้ำ การช่วยชีวิตการช่วยชีวิตและความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิด อภิปราย และทบทวนความคืบหน้าล่าสุดอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการป้องกันการจมน้ำ โดยร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 8 – 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมงานมากกว่า 200 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการประกาศเร่งลดจำนวนผู้เสียชีวิต หลังพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่า 320,000 คนทั่วโลก

“เราต้องการที่จะลดตัวเลขการจมน้ำเสียชีวิตให้ได้โดยเร็ว ดังนั้นการฝึกอบรมการช่วยชีวิต จึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก สำหรับการดำเนินงานในจังหวัดภูเก็ต” นายจัสติน กล่าว “รวมไปถึงการสร้างกลุ่มดูและและป้องกันการจมน้ำ โดยมีสมาชิกเป็นกลุ่มคนในท้องถิ่น และอีกปัจจัยที่สำคัญก็คือ ข้อมูลสาธารณะอันเป็นประโยชน์ที่สามารถเข้าถึงได้ จากหลากหลายจุดภายในชมชุน”

เขายังได้เน้นย้ำอีกว่า การป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตนั้นไม่ใช่เพียงแค่การจมน้ำที่บริเวณชายหาดเท่านั้น มันยังหมายรวมถึง การเสียชีวิตในสระว่ายน้ำที่โรงแรมหรือแม้แต่ในบ้าน และตามแหล่งน้ำต่าง ๆ อีกด้วย “ผมอยากเห็นการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการป้องกันการจมน้ำภายในชุมชน โดยได้รับการฝึกฝนจาก ภูเก็ต ไลฟ์ เซฟวิ่ง (Phuket Life Saving) ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรเดียวในประเทศไทย ที่มีประสบการณ์และทักษะที่ได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา และได้รับการยอมรับจาก ILSF” นายจัสติน กล่าว

ประเทศไทยได้กลายเป็นจุดสนใจ

ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างเห็นได้ชัดในการประชุมที่ผ่านมา ภายหลังจากข้อมูลการยืนยันในเดือนสิงหาคมที่ว่าประเทศไทยยังคงครอง “อันดับหนึ่ง” สำหรับการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็ก เทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน และองค์การอนามัยโลกก็ได้ให้ข้อมูลอีกว่า อัตราการจมน้ำเสียชีวิตของประเทศไทยอยู่ในอัตราที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก

แคโรไลน์ ลูคาสกี ผู้ประสานงานข้อมูลภูมิภาคองค์การอนามัยโลก แปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายงานในการประชุมว่า อัตราการจมน้ำในประเทศไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ “อัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของประเทศไทยคือ 8.2 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ยังถือเป็นสถิติสูงสุดที่ได้มีการบันทึกของประเทศไทย” เธอกล่าว

โดยจากรายงานที่องค์การอนามัยโลกระบุเอาไว้เมื่อต้นปี อ้างอิงจากสถิติปี 2560 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำที่ 7.1 นอกจากนี้รายงานของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (NICFD) ในเดือนมีนาคมระบุว่า ในระหว่างปี 2543 – 2561 มีสถิติการจมน้ำเสียชีวิตในประเทศไทยมีมากกว่า 22,700 ราย ซึ่งรวมถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ 1,262 คนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะจำนวนเด็กจมน้ำเสียชีวิตเมื่อเทียบแล้วสูงถึงกว่า 5 คน/วัน โดยสถิติการเสียชีวิตของเด็ก พบว่าตัวเลขของการเสียชีวิตสูงสุดมาจากสาเหตุจากการจมน้ำที่ 56% ตามมาด้วยอุบัติเหตุทางถนน 25% และเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง เป็นอันดับที่สามด้วยตัวเลข 8%

ตัวเลขการจมน้ำเสียชีวิต ระบุว่ามีจำนวนสูงสุดในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ซึ่งในระหว่างช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ 12 วัน ในระหว่างวันที่ 12-23 เมษายน นั้นถือเป็นช่วงเวลาที่อันตรายมากที่สุด

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้านหรือบริเวณใกล้บ้าน”
“ในส่วนของเด็กเล็ก เหตุการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองละทิ้งสายตาจากเด็ก ๆ สำหรับเด็กโตพวกเขาจะแอบออกไปเล่นน้ำกับเพื่อน ๆ โดยที่ไม่บอกผู้ปกครองให้ทราบ แม้ว่าพวกเขาจะว่ายน้ำไม่เป็นก็ตาม” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ปัญหาระดับโลก

การประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการจมน้ำในแอฟริกาใต้ที่จัดขึ้นมานั้น เกิดจากรายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด ที่ได้ประมาณการว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำทั่วโลกประมาณ 320,000 คน ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งที่สามในการจัดงานประชุม เพื่อการป้องกันการจมน้ำทั่วโลก ภายหลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้มีการเผยแพร่รายงาน การจมน้ำระดับโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 เพื่อเป็นการป้องกันการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก

การจมน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกของเด็กและเยาวชนในทุกภูมิภาคของโลก มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำทั้งหมดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งการเปิดตัว “คู่มือปฏิบัติการ: การป้องกันการจมน้ำ” หรือ Preventing drowning: an implementation guide ได้มีขึ้นในปี 2560 คู่มือฉบับนี้ถูกออกแบบและจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยต่อยอดมาจากรายงานการจมน้ำระดับโลกในปี 2557 และได้ถูกนำมาใช้ร่วมกับการหารือในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

ดร.เดวิด เมดดิงส์ จากแผนกการจัดการโรคไม่ติดต่อ, ความพิการ, ความรุนแรง และการป้องกันการบาดเจ็บ กรมอนามัยโลกอธิบายว่า “มากกว่า 90% ของการจมน้ำเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ประกอบไปด้วยประเทศในแอฟริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก เป็นกลุ่มที่มีอัตราสูงที่สุด”

“เด็กอายุ 1-4 ปีมีความเสี่ยงสูงที่จะจมน้ำ ทั้งนี้การสูญเสียชีวิตส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ ผ่านการปฏิบัติที่ได้มีการบันทึกไว้ใน คู่มือปฏิบัติการ: การป้องกันการจมน้ำ” เขากล่าวเสริม

สำหรับ “คู่มือปฏิบัติการ: การป้องกันการจมน้ำ” ฉบับแปลของไทยได้ถูกตีพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 1,000 เล่ม คู่มือดังกล่าวเน้นการประเมินสถานการณ์เพื่อป้องกันการจมน้ำ การแทรกแซงและกลยุทธ์ เพื่อสนับสนุนการป้องกันการจมน้ำ รวมไปถึงการส่งเสริมความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการจมน้ำ ผ่านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และเพื่อกำหนดแผนความปลอดภัยทางน้ำแห่งชาติ

ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปค้นหาและดาวโหลดคู่มือฉบับภาษาอังกฤษและไทยได้แล้ววันนี้
สำหรับไทย คู่มือปฏิบัติการ: การป้องกันการจมน้ำ(คลิก) และ Preventing drowning: an implementation guide(คลิก)

ธัญลักษณ์ สากูต หัวหน้าข่าว The Phuket News คือหนึ่งในนักข่าวเพียง 10 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วโลก ให้เข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการจมน้ำ (WCDP2019) ผ่านทางพันธมิตรด้านงานข่าว International Center for Journalists (ICFJ)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่