พบพะยูนไทยตายเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งยังเกยตื้นบ่อยขึ้น

กระบี่ - อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน เพื่อดูแล คุ้มครอง พะยูน และเตรียมจัดประชุมพะยูนโลก ในปีหน้า ณ จังหวัดตรังและกระบี่ ล่าสุดพบว่ามีพะยูนตายถึง 15 ตัว สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน 12 ตัวต่อปี และยังพบว่ามีการเกยตื้นของพะยูนบ่อยมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับลูกพะยูนมาเรียมและยามีล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์

ข่าวภูเก็ต

วันอังคาร ที่ 16 กรกฎาคม 2562, เวลา 17:11 น.

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่ รายงานว่าวันนี้ (16 ก.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พล.ร.ต.นันทพล มาลารัตน์ ผบ.ฐานทับเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอ่าวลึก ศาลากลางจังหวัดกระบี่ โดยมีนายสมโภช โชติชูช่วง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดและเพิ่มมาตรการคุ้มครองพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากให้ได้อย่างยั่งยืน

หลังจากพบว่ามีจำนวนพะยูนตายถึง 15 ตัว จากค่าเฉลี่ยไม่เกิน 12 ตัว/ปี ซึ่งส่วนใหญ่ตายด้วยเครื่องมือประมง โดย 5 ตัวล่าสุดยังไม่ทราบสาเหตุการตายที่แท้จริง ทราบเพียงว่าซาก 4 ตัวมีการตายแบบเฉียบพลัน เนื่องจากมีการดำรงชีวิตและกินอาหารตามปกติ แต่มีร่องรอยของเชือกที่ผิวภายนอก ส่วนอีก 1 ตัว มีการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อก่อนตาย แต่ไม่พบค่าโลหะหนักที่แตกต่างไปจากปกติ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเกยตื้นของพะยูนบ่อยมากขึ้น

ล่าสุดเมื่อเย็นวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลภูเก็ต-กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ได้รับซากพะยูนมาทำการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย นายสมควร เปิดเผยว่า ผลการผ่าพิสูจน์โดยสัตวแพทย์ พบว่าร่างกายสมบูรณ์ ผ่าท้องดูกระเพาะและลำไส้ พบสารอาหารสมบูรณ์ ไม่พบรอยช้ำหรือการถูกทำร้าย สภาพซาก สะดือแตก และลำไส้ทะลัก แต่ไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ได้ เพราะซากปลาพะยูนเริ่มเน่าเปื่อย ส่วนเขี้ยวที่ถูกตัดไปก่อนหน้านี้นั้น สันนิษฐานว่าเป็นการตัดไปภายหลังการตาย เพราะหากโดนทำร้าย หรือล่า และหรือตัดเขี้ยวก่อนตาย จะต้องมีร่องรอยบอบช้ำ หรือร่องรอยอุปกรณ์จับปลาปรากฏอยู่ จึงลงความเห็นว่าเป็นการตายอย่างเฉียบพลันโดยผิดธรรมชาติ

ทั้งนี้ ในระยะ3-4 เดือนที่ผ่านมา บริเวณทะเลกระบี่และทะเลตรัง ลูกพะยูนเกยตื้น 2 ตัว คือ มาเรียมและยามีล โดยสถานการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากบุคคลระดับสูงและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพะยูน เป็นสัตว์ทะเลที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ พบฝูงใหญ่สุดหากินอยู่ในทะเลตรัง และทะเลกระบี่ สำหรับลูกพะยูนทั้งสองตัวนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์

การประชุมในวันนี้ได้มีการติดตามมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมงจังหวัด สมาคมประมงจังหวัดกระบี่ นายอำเภอที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ พื้นที่แหลมหางนาค อ.เมือง, ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง, ต.เกาะลันตา อ.เกาะลันตา และบ้านบ่อม่วง อ.คลองท่อม ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานและมอบหมายภารกิจความรับผิดชอบแล้ว โดยพื้นที่ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนืองคลอง ได้มีการกันพื้นที่ 26 ไร่ บริเวณหน้าเกาะจำที่มีหญ้าทะเลให้เป็นพื้นที่พิเศษ ห้ามเข้าทำการประมง

นายจตุพร กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อป้องกันการตายและการเกยตื้นของพะยูนจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น มีการดูแลพื้นที่แหล่งอาหาร การลดตระเวน ประชาสัมพันธ์ผ่านทางประมง และผู้นำท้องถิ่นให้ประชาชนได้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแล ระยะกลาง จะมีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระยะยาว จะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นการอนุรักษ์พะยูน ซึ่งจะดำเนินการประกาศเขตคุ้มครองที่ชัดเจนในระยะไม่เกิน 5 ปี

อย่างไรก็ตามได้มีการประสานการปฏิบัติ ประสานด้านข้อมูล กับงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการป้องกัน การดูแลรักษากรณีพบปลาพะยูนเจ็บป่วยหรือเกยตื้น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย พร้อมทั้งเตรียมจัดการประชุมพะยูนโลก ที่จังหวัดตรังในปี 2563 และจะลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ด้วย

สำหรับในเรื่องนี้ กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ได้ตั้งข้อสังเกตที่อาจเป็นปัจจัยในการเสียชีวิตไว้ 3 ประเด็น คือ การตั้งใจล่า เพื่อต้องการอวัยวะบางส่วนไปครอบครองตามความเชื่อทางไสยศาสตร์, การทำประมงผิดกฎหมาย ที่อาจจะไปกระทบการเป็นอยู่ของพะยูน เช่นการลักลอบระเบิดปลาในทะเล และปัจจัยที่มาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพะยูน เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลหากินในบริเวณน้ำตื้น

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่