ภูเก็ตออกมาตรการคัดกรองรับนทท.และเชื่อมต่อจังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง 7+7 มีผลตั้งแต่วันนี้

ภูเก็ต - วันนี้ (20 ส.ค.) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตลงนามในคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 4781/2564 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2564 มีสาระสำคัญเพื่อการ กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต เชื่อมต่อจังหวัดนำร่องอื่น (7 + 7) มีผลตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ข่าวประชาสัมพันธ์

วันศุกร์ ที่ 20 สิงหาคม 2564, เวลา 22:00 น.

แฟ้มภาพ ข่าวภูเก็ต

แฟ้มภาพ ข่าวภูเก็ต

ข้อ 1 มาตรการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทางท่าอากาศยานภูเก็ต ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเชื่อมต่อจังหวัดนำร่องอื่น เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวหรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล

มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาถึง

1) กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง หรือกลุ่มประเทศตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอ โดยผู้เดินทางต้องอยู่ในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน กรณีผู้มีสัญชาติไทย และชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยจะต้องเดินทางมาจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
2) มีเอกสารหรือหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีน (Certificate of Vaccination) ตามกำหนดของประเทศไทยครบกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน ก่อนการเดินทาง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีนและเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลให้มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโควิด – 19 (Medical Certificate with a laboratory result indicating that COVID – 19 is not detected) โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิด 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
3) กรณีเคยติดเชื้อ ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน
4) มีหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry - COE)
5) มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโควิด – 19 (Medical Certificate with a laboratory result indicating that COVID – 19 is not detected) วิธีการ RT – PCR ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง
6) มีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลหรือหลักประกันอื่นใดซึ่งรวมถึงกรณีโรคโควิด – 19 ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักร ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
7) มีเอกสารหลักฐานการชำระค่าที่พัก SHA+ และค่าตรวจ RT – PCR ทั้งนี้ กรณีที่พำนักน้อยกว่า 14 วัน ให้แสดงบัตรโดยสารเครื่องบินไป - กลับด้วย

มาตรการเมื่อเดินทางถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร

1) มาตรการตรวจคัดกรองอาการและการดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง
(1) กรณีเดินทางเข้าราชอาณาจักรโดยสายการบินที่มีเที่ยวบินตรงมายัง ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ และยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงการดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ณ ช่องทางเข้า - ออกระหว่างประเทศ ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
(2) กรณีเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสายการบินที่ไม่มีเที่ยวบินตรงและต้องเดินทางโดยทางอากาศต่อมายังท่าอากาศยานภูเก็ต ให้ผู้เดินทางดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
ก. ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ และให้ยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงการดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ณ ช่องทางเข้า - ออกระหว่างประเทศจุดแรกที่มีการเดินทางเข้ามาภายในราชอาณาจักร ก่อนเดินทางมายังท่าอากาศยานภูเก็ต
ข. ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ และให้ยื่นเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงการดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ณ ช่องทางเข้า - ออกระหว่างประเทศหรือในพื้นที่ของท่าอากาศยานภูเก็ต
2) ให้ใช้ระบบติดตามตัวโดยติดตั้งแอปพลิเคชัน Morchana หรือตามที่ทางราชการกำหนด โดยให้เปิดระบบติดตามดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการระหว่างที่ผู้เดินทางพำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต
3) ให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยวิธี RT-PCR ณ สถานที่ที่ทางราชการกำหนด โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) ให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 1 ครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยห้ามเดินทางออกนอกโรงแรมหรือสถานที่พักจนกว่าจะมีผลการตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อโควิด - 19
(2) ให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 – 7 ของระยะเวลาที่พำนัก ณ โรงแรมที่พักอาศัยหรือห้องปฏิบัติการ (Lab นอก) โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา
4) ให้เดินทางออกจากท่าอากาศยานภูเก็ตในช่องทางที่กำหนด ไปยังโรงแรมหรือสถานที่พักโดยยานพาหนะที่จัดไว้เป็นการเฉพาะและต้องไม่มีการแวะหรือหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงโรงแรมหรือสถานที่พัก ทั้งนี้ ในกรณีพบว่าผู้เดินทางมีการติดเชื้อโควิด – 19 ให้โรงแรมหรือสถานที่พักดำเนินการประสานส่งตัวผู้เดินทางไปยังสถานพยาบาลคู่สัญญาตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนดโดยเร่งด่วนเพื่อทำการตรวจหรือรักษาต่อไป โดยผู้เดินทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด หรือเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายระหว่างโรงแรมหรือสถานที่พักกับผู้เดินทาง
5) กรณีผู้เดินทางออกนอกโรงแรมหรือสถานที่พักหลังจากทราบผลการตรวจยืนยันแล้วว่าไม่มีเชื้อโควิด – 19 ให้ผู้เดินทางรายงานตัวกับ SHA Plus Manager เมื่อกลับมายังโรงแรมหรือสถานที่พักทุกวันตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด โดยห้ามไปพำนักค้างคืนในสถานที่อื่นนอกเหนือจากโรงแรมหรือสถานที่พักที่ได้กำหนดไว้ และให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต
6) กรณีผู้เดินทางพำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลาน้อยกว่า 7 คืน ห้ามผู้เดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเด็ดขาด ยกเว้นเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น

กรณีต้องการเดินทางไปยังพื้นที่นำร่องอื่น

1) ต้องพำนักในจังหวัดภูเก็ตอย่างน้อย 7 คืน และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธีการ RT – PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 – 7
2) กรณีเดินทางไปยังพื้นที่เชื่อมต่อ Phuket Sandbox ต้องได้รับ Transfer From จากจังหวัดภูเก็ต และเลือกเดินทางไปพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ได้แก่
(1) เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี (โดยทางอากาศท่าอากาศยานภูเก็ต เที่ยวบินตรงเส้นทางภูเก็ต - สมุย)
(2) เขาหลัก จังหวัดพังงา (โดยทางรถ SHA+ จากจังหวัดภูเก็ต ไปยังโรงแรมที่พักในจังหวัดพังงา)
(3) เกาะพีพี เกาะไหง หรือไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ (โดยทางเรือ SHA+ จากท่าเรือที่กำหนด)
(4) เกาะยาวน้อยหรือเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา (โดยทางเรือ SHA+ จากท่าเรือที่กำหนด)

กรณีประสงค์จะเดินทางท่องเที่ยวในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ต และพื้นที่นำร่องอื่น จะต้องเดินทางออกจากท่าเรือที่กำหนด ดังนี้
1) ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
2) ท่าเทียบเรือรัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
3) ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
4) ท่าเทียบเรือวิสิษฐ์พันวา ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

กรณีที่จะเดินทางโดยเรือสำราญและกีฬา (เรือยอช์ท) หรือเรือที่มีลักษณะเป็นเรือสำราญและกีฬาที่จดทะเบียนประเภทบรรทุกคนโดยสาร ให้เดินทางออกจากท่าเรือที่กำหนด ดังนี้
1) ท่าเทียบเรือยอช์ท เฮเว่น มารีน่า ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
2) ท่าเทียบเรืออ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
3) ท่าเทียบเรือภูเก็ต โบ๊ทลากูน ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
4) ท่าเทียบเรือรอยัล ภูเก็ต มารีน่า ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
5) ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

โดยต้องแจ้งเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต หรือศูนย์ปฏิบัติการติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต (ศปก.Phuket Sandbox) ก่อนออกเดินทางไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง และผู้เดินทางจะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1) ลงทะเบียนระบบติดตามตัวโดยการรายงานตัวผ่านแอปพลิเคชันตามที่ทางราชการกำหนด
2) เรือบรรทุกคนโดยสารตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป ยกเว้น เรือบรรทุกคนโดยสารหางยาว จะต้องติดตั้งระบบแสดงตนอัตโนมัติ (AIS ไม่ต่ำกว่า Type B และต้องติดตั้งวิทยุสื่อสาร VHF พร้อมเปิดใช้งานตลอดเวลาและให้เป็นไปตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า
3) เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือ ต้องแจ้งเรือเข้า – ออกท่าเรือ ตามแบบรายงานพร้อมเอกสารให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบก่อนปล่อยเรือออกจากท่า หรือเมื่อเรือเข้าเทียบท่าเสร็จเรียบร้อย ซึ่งประกอบด้วยเอกสาร ดังต่อไปนี้
(1) แบบรายงานเรือเข้า – ออกท่าเทียบเรือ
(2) บัญชีรายชื่อผู้โดยสารและคนประจำเรือ
(3) บัญชีผู้เอาประกันภัยหรือกรมธรรม์และความถูกต้องตรงกันของผู้โดยสารที่ลงเรือ (ถ้ามี)
(4) ให้ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ ลูกเรือ พนักงานในเรือ และผู้โดยสาร ถือปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 8/2564 ลงวันที่ 11 มกราคม 2564 เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ เจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือและผู้โดยสารปฏิบัติ กรณีที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในข้อที่มิได้กำหนดไว้ในประกาศนี้อย่างเคร่งครัดทั้งนี้ ต้องพำนักในพื้นที่ข้างต้นอย่างน้อย 7 คืน และต้องตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT- PCR ครั้งที่ 3 ในพื้นที่นำร่องจังหวัดอื่นหรือเดินทางกลับมาในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 12 – 13 และได้รับ Release From จึงจะสามารถเดินทางออกจากพื้นที่นำร่องไปยังจังหวัดอื่นในราชอาณาจักร

มาตรการก่อนออกเดินทางออกจากราชอาณาจักรหรือเดินทางออกนอกพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นภายในราชอาณาจักร
1) กรณีผู้ที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 คืน สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตไปยังจังหวัดพื้นที่นำร่องอื่น ให้ผู้เดินทางแสดงหลักฐานยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ครั้งที่ 2 แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด – 19 และ Transfer From ซึ่งออกโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง ตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่ราชการกำหนด
2) ก่อนเดินทางออกจากพื้นที่นำร่องไปจังหวัดอื่น ๆ ให้แสดงหลักฐานยืนยันว่า ได้พำนักในพื้นที่นำร่องอื่นรวมการพำนักในจังหวัดภูเก็ตแล้วมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 คืน (Release From) และหลักฐานตามที่ทางราชการกำหนด

ข้อ 2 ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว Phuket Sandbox ทำหน้าที่บริหารจัดการ มอบหมายภารกิจ กำกับติดตามการเดินทางเข้า - ออก จังหวัดภูเก็ต ของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย ทั้งที่เดินทางจากต่างประเทศและภายในประเทศ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาจนกระทั่งเดินทางออกจากจังหวัด รวมถึงจัดระบบติดตามผลการปฏิบัติงาน ข้อมูลการเข้า - ออกของนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังและติดตาม ประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ ข้อร้องเรียน หรือข้อคิดเห็นของประชาชน ปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติและแนวทางแก้ไข เพื่อรายงานให้ ศปก.ศบค. และผู้บริหารระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง โดยให้จัดระบบการสื่อสารเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญ ได้แก่
1) ด่านตรวจท่าอากาศยานภูเก็ต
2) ด่านตรวจทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย)
3) ด่านตรวจทางน้ำ (ท่าเรือ) และ ศรชล.จังหวัดภูเก็ต
4) ศูนย์ประสานงานโรงพยาบาลรัฐและเอกชน (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด)
5) ตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
6) ศูนย์ประสานงานโรงแรม/ที่พัก (SHA Plus Manager)
7) ศูนย์ประสานงานสถานประกอบการ SHA+ (SHA Plus) (สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด)
8) สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต (รถยนต์โดยสาร SHA Plus)
9) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภาคใต้ และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

ข้อ 3 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จัดทำแผนรับมือและแผนการชะลอหรือยกเลิกโครงการ
หลักเกณฑ์การพิจารณาปรับมาตรการ ได้แก่
1. ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวในโครงการ โดยประเมินจากอัตราการครองเตียงทั้งหมดของโรงพยาบาลที่รับนักท่องเที่ยว
2. ความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นประชาชนในพื้นที่ โดยประเมินจากอัตราการครองเตียงต่อจำนวนเตียงทั้งหมดของสถานพยาบาลที่รับผู้ติดเชื้อทั้งหมดทุกประเภท
3. ลักษณะการระบาดวิทยาของโรคโควิด – 19 ในพื้นที่ การจัดระดับพื้นที่สถานการณ์ และทรัพยากรในการสอบสวนควบคุมโรค

การปรับมาตรการแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1) ปรับลดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น จำกัดสถานที่ในการท่องเที่ยว ลดกิจกรรมที่สัมผัสกับผู้ให้บริการ เป็นต้น โดยเริ่มปรับลดกิจกรรมเมื่อเข้าได้กับหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง
2) Sealed Route โดยจัดระบบการเดินทางให้มีรถเฉพาะกลุ่มและกำหนดเส้นทางการเดินทาง โดยไม่ให้มีการสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ โดยเริ่มปรับให้นักท่องเที่ยวมีการ Sealed Route ในการเดินทางท่องเที่ยว เมื่อเข้าได้กับหลักเกณฑ์ตั้งแต่สองข้อขึ้นไป ที่ตรงกับมาตรการ Sealed Route
3) Hotel Bubble ให้นักท่องเที่ยวพำนักในโรงแรมที่พักเท่านั้น โดยสามารถทำกิจกรรมได้ และไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ให้บริการหรือประชาชนในพื้นที่ โดยเริ่มปรับให้นักท่องเที่ยวมีการทำ Hotel Bubble เมื่อเข้าได้กับหลักเกณฑ์ตั้งแต่สองข้อขึ้นไป ที่ตรงกับมาตรการ Hotel Bubble
4) ยุติการรับนักท่องเที่ยว เมื่อเกิดการระบาดในวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ ตามหลักเกณฑ์ยุติการรับนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 ข้อ ควรยุติการรับนักท่องเที่ยวใหม่ โดยรับนักท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในโครงการ
ที่ได้รับ COE แล้วเท่านั้น หรือเข้าประเทศมาแล้ว โดยให้มีการพำนักในโรงแรมที่พักเท่านั้นจนครบ 14 วัน

แนวทางในการปรับมาตรการ ดำเนินการ ดังนี้
1. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน และประเมินสถานการณ์ตามหลักเกณฑ์ทุก 1 – 2 สัปดาห์
2. การปรับมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยว ให้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
2.1 กรณี สถานการณ์เข้าได้กับหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ข้อ ให้ปรับเพิ่มมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามระดับมาตรการ 1 ระดับ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วประเมินอีกครั้ง หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงให้คงระดับมาตรการเดิม กรณีดีขึ้น ให้ปรับลดระดับมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 1 ระดับ และหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นให้ปรับเพิ่มตามระดับมาตรการที่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2.2 กรณี สถานการณ์เข้าได้กับหลักเกณฑ์อย่างน้อย 2 ข้อขึ้นไป ให้ปรับเพิ่มมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามระดับมาตรการ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วประเมินอีกครั้ง หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงให้คงระดับมาตรการเดิม กรณีสถานการณ์ดีขึ้น ให้ปรับลดระดับมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นให้ปรับเพิ่มตามระดับมาตรการ
3. สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ ข้อกำหนด ศบค. และคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ตามหลักเกณฑ์และระดับการปรับมาตรการ

ข้อ 4 การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือมาตรการ
กรณีคนต่างด้าวผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
(1) การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อาจมีโทษตามมาตรา 51 และมาตรา 52
(2) การฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 อาจมีโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
(3) การฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการซึ่งทางราชการกำหนด เช่น การเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตก่อนระยะเวลา 7 คืน หรือตามที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการไม่ให้ความร่วมมือเข้ารับการรักษา เป็นต้น อาจเป็นเหตุแห่งการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 36 และอาจพิจารณาไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร

กรณีบุคคลผู้มีสัญชาติไทย
(1) การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อาจมีโทษตามมาตรา 51 และมาตรา 52
(2) การฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 อาจมีโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

กรณีผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ผู้นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ รวมถึงเจ้าของพาหนะ ผู้ควบคุมพาหนะ หรือคนประจำพาหนะที่นำคนต่างด้าวโดยสารไปด้วย
(1) การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อาจมีโทษตามมาตรา 51 และมาตรา 52
(2) การฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564 อาจมีโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
(3) การฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรและหลักเกณฑ์การดำเนินการซึ่งทางราชการกำหนด อาจถูกพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 45 หรืออาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 แล้วแต่กรณี หากเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่