ภูเก็ตอันดับ 1 ไข้เลือดออก สสจ.เตือนประชาชนระวัง เพราะสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

ภูเก็ต - นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านสถานการณ์ไข้เลือดออกของจังหวัดภูเก็ต ได้แสดงความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ต เนื่องจากสภาวะการระบาดอย่างหนักของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน ที่อัตราการป่วยสะสมของจังหวัดภูเก็ตติดอันดับ 1 ของประเทศไทย

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันเสาร์ ที่ 9 มิถุนายน 2561, เวลา 09:00 น.

“เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างเต็มที่ เนื่องจากไข้เลือดออกยังระบาดในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งล่าสุดพบว่ามีตัวเลขสะสมของผู้ป่วยเข้าข่ายติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็ได้เร่งทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่ต่าง ๆ เช่นบริเวณบ้านเรือน หรือโรงเรียน ตามยุทธศาสตร์ลดการระบาดของโรค” นพ.กฤษณ์ กล่าวกับ ข่าวภูเก็ต

อ้างอิงจากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกประจำสัปดาห์ที่ 21 ปี 2561 โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ที่เปิดเผยว่า อัตราป่วยสะสมของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2561 พบว่าจังหวัดภูเก็ตอัตราป่วยสะสมสูงสุดในประเทศไทย คำนวณอัตราป่วยต่อแสนประชากรที่ 91.45 รองลงมาคือจังหวัดกระบี่ นครปฐม พังงา นครศรีธรรมราช ระนอง สมุทรสาคร พิจิตร ระยอง และ เพชรบุรี เป็น 10 อันดับแรกของประเทศตามลำดับ

จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 พฤษภาคม 2561 จังหวัดภูเก็ตมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวนทั้งสิ้น 2 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นเด็กชายอายุ 13 ขวบ และรายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 23 ปี สำหรับอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคืออำเภอถลาง รองลงมาคืออำเภอกะทู้ และ อำเภอเมืองภูเก็ต โดยพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 5 อันดับแรกคือ เชิงทะเล รองลงมาคือ กมลา เทพกระษัตรี ศรีสุนทร และ กะรน

ส่วนกลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่ม 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่ม 15-24 ปี กลุ่มอายุ 25-34 ปี กลุ่ม 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ โดยระบุจำนวนผู้ป่วยชายทั้งสิ้น 197 ราย และหญิงอีก 130 ราย

ทั้งนี้ นพ.กฤษณ์ ได้กล่าวถึงการดำเนินการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงพร้อมกับให้ความเห็นว่า การที่จังหวัดภูเก็ตมีอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมสูงสุดในประเทศไทยนั้นถือเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและกำจัดยุงลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“จากตัวเลขที่แสดงให้เป็นว่าการระบาดของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดภูเก็ตอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงนั้น ทางภาครัฐอยากขอความร่วมมือของประชาชนให้ร่วมใจป้องกันตนเองและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป เพราะสิ่งที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญที่สุดคือการตระหนักรู้ถึงอันตราย ยิ่งอัตราผู้ป่วยของภูเก็ตขึ้นอันดับ 1 ของประเทศ เราก็ควรที่จะต้องตื่นตัว เพราะแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องจะเร่งทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่ต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ลดการระบาดของโรคอย่างเต็มที่เต็มกำลังแล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องดูแลป้องกันตัวเองจากยุงลาย ต้องหมั่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยตนเองให้เป็นกิจวัตร เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและครอบครัว” นพ.กฤษณ์ กล่าว

ซึ่งนอกจากการป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด ในเบื้องต้น เช่น ทาโลชั่นกันยุง จุดยากันยุงในรูปแบบต่าง ๆ หรือนอนกางมุ้ง และอื่น ๆ แล้ว รองนายแพทย์สสจ.ภูเก็ต ยังมีคำแนะนำในการทำลายยุงตัวแก่และลูกน้ำยุงลายดังนี้

1.ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่
2.เปลี่ยนน้ำในแจกันหรือถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำยุงลายที่จะกลายเป็นยุง
3.ปล่อยปลาหางนกยูงหรือปลากินลูกน้ำ ลงในอ่างบัวหรือที่กักเก็บน้ำไม่มีฝาปิด
4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
5. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบ ๆ บ้านและชุมชน เช่นกองขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนเช่นตอนนี้

“อยากฝากไปถึงพี่น้องชาวภูเก็ตว่า ยุงลายนั้นมักจะวางไข่ในน้ำนิ่ง สะอาด และมีร่มรำไร ซึ่งบางท่านอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ายุงลายวางไข่ในน้ำเน่า” นพ.กฤษณ์ กล่าว

“หากพบว่ามีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย นานเกิน 2 วันให้รีบไปพบแพทย์ และห้ามซื้อยามากินเองโดยเด็ดขาด เพราะยาบางตัวอาจทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายในอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่