สำนักข่าวต่างประเทศเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย. 62 อดีตผู้บริหารสายการบินราคาประหยัดของไทยได้เข้าร่วมการไต่สวน ณ กรุงปารีส จากคดีอุบัติเหตุทางเครื่องบินเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2550 ซึ่งคร่าชีวิตเหยื่อไปถึง 90 ราย โดยเกือบสองในสามของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ
ครอบครัวของผู้เสียชีวิตชาวฝรั่งเศส 9 คน และผู้รอดชีวิต 1 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อ นายอุดม ตันติประสงค์ชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินวันทูโก (One-Two-Go) สายการบินราคาประหยัด ในเครือของโอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ ซึ่งทั้งสองสายการบินได้ยุติบทบททางธุรกิจไปแล้วทั้งคู่
คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็น “อุบัติเหตุที่รอคอยการเกิด” โดยมีข้อกล่าวหาว่าโศกนาฏกรรมดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ความเหนื่อยล้าของนักบิน ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่สายการบินปลอมแปลงบันทึกการบิน
เที่ยวบินนี้นำผู้โดยสาร 123 คน และลูกเรือ 7 คน เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดภูเก็ต แต่ขณะที่นักบินพยายามนำเครื่องลงจอดที่สนามบินภูเก็ตท่ามกลางสภาพฝนตกหนักและลมแรง เครื่องได้ไถลหลุดรันเวย์แล้วเกิดไฟลุกท่วม ทำให้มีคนเสียชีวิต 90 คน เป็นชาวไทย 33 คน ชาวต่างชาติ 57 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ, อิสราเอล และฝรั่งเศส
ครอบครัวของผู้ประสบเหตุกล่าวโทษสายการบินนี้ว่า พยายามปกปิดความบกพร่องหลายอย่างที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งนี้ โดยคำฟ้องกล่าวหานายอุดมว่าฆ่าผู้อื่นตายโดยประมาท และได้มีการเพิ่มข้อกล่าวหาต่อสายการบินที่ยังคงให้บริการอยู่ในขณะนี้ ทั้งในเรื่องของการให้นักบินบินติดต่อกันหลายชั่วโมงจนก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ไปจนถึงเรื่องบันทึกการบินปลอมอีกด้วย
ซึ่งภายหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น นายอุดมอดีตผู้บริหารของวัน-ทู-โก ยอมรับว่า สายการบินมีส่วนต้องรับผิดชอบกับอุบัติเหตุทางอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าชื่อของเขาอยู่ในหมายจับสากล แต่เขาก็ไม่เคยถูกควบคุมตัวและไม่เคยแม้แต่จะตอบรับหมายศาล ซึ่งเรียกได้ว่าเขาไม่เคยมีการปรากฏตัวเลย
เวลาผ่านไปเกือบสิบสองปีแล้ว กับโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตชาวไทยและต่างชาติ ไปถึง 90 ชีวิต
เจอราร์ด เบมบารอง หนึ่งในโจทก์ชาวฝรั่งเศสที่สูญเสียพี่ชายของเขาในอุบัติเหตุครั้งนี้ กล่าวว่า “มันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน”
“พวกเราต้องการที่จะรื้อฟื้นอุบัติเหตุที่ถูกลืมเลือนนี้ เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ว่าสมาชิกในครอบครัวของผู้ประสบอุบัติเหตุครั้งนั้นคือเหยื่อและเป็นผู้เสียหาย สิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออุบัติเหตุที่รอคอยที่จะเกิดขึ้น หากเรามองจากกระบบการทำงานของบริษัทสายการบินแห่งนี้” เขากล่าว
เอเอฟพี ยังรายงานอีกว่า ผลการสอบสวนของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยสรุปว่า สาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ เพราะนักบินและนักบินผู้ช่วยพยายามนำเครื่องลงในสภาพอากาศอันเลวร้าย นอกจากนั้นยังพบอีกว่า นักบินทำงานเกินชั่วโมงบินต่อสัปดาห์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีความเครียดสะสมจากความเหนื่อยล้าและพักผ่อนไม่พอ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันส่งผลให้ปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤติของนักบินลดลงไปด้วย
โดยแหล่งข่าวที่ติดตามคดีกล่าวอย่างใกล้ชิดกล่าวอีกว่า ในระหว่างที่การสืบสวนยังคงดำเนินอยู่นั้น ทางสายการบินได้ส่งเอกสารเท็จปลอมแปลงจำนวนชั่วโมงบินของนักบิน เพื่อให้ดูเหมือนว่าชั่วโมงการทำงานของพวกเขานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
การสอบสวนของฝรั่งเศสเปิดเผยความล้มเหลวหลายประการของบริษัทออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับสมัครงาน การฝึกอบรม และลักษณะการทำงานของนักบิน รวมถึงการบำรุงรักษาอากาศยานด้วย
อดีตนักบินรายหนึ่งได้เปิดเผยกับชุดสืบสวนสอบสวนคดีนี้ว่า การบินเกินชั่วโมงที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งนักบินจะได้รับเงินโบนัสพิเศษ และนั่นก็หมายความถึง “วัฒนธรรมของอาชญากรรมทางธุรกิจ” รวมถึงเป็นการ “ละเมิดบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยพื้นฐานอย่างร้ายแรง”
แปล : ซาลิมาโต๊ะหมาด