สำหรับการล้างอ๊าม ทำความสะอาดศาลเจ้าของแต่ละศาลเจ้าโดยปกติจะมีขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายก่อนเริ่มต้นประเพณีถือศีลกินผักของทุกปี โดยจะมีการร่วมเช็ดทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรม อาทิเช่น โต๊ะ ตะเกียง ตั่วเหลียน เสลี่ยงพระ เครื่องทองเหลืองทุกชนิด รวมถึงทำความสะอาดพื้นที่อาคารศาลเจ้า นอกจากนี้ยังรวมถึงการเตรียมพื้นที่โรงครัวที่ใช้ในการประกอบอาหารเจแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมถือศีลกินผัก ตลอด 9 วัน 9 คืน
ทั้งนี้แต่ละศาลเจ้าจะมีการยกเสาโกเต้ง เพื่ออัญเชิญตะเกียงทั้ง 9 สัญลักษณ์เริ่มต้นเข้าสู่ประเพณีถือศีลกินผัก ในช่วงเย็นของวันที่ 2 ต.ค.2567 ที่จะถึงนี้ ก่อนจะเริ่มต้นพิธีอิ้วเก้ง หรือแห่พระรอบเมืองภูเก็ตในวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.2567 โดยศาลเจ้าจ้อซู่ก้ง (นาคา) จะเป็นศาลเจ้าแรก
สำหรับบรรยากาศในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนถึงงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ปี 2567 เริ่มคึกคักต่อเนื่องโดยศาลเจ้าต่าง ๆ ได้ทำความสะอาดตกแต่งสถานที่เตรียมความพร้อมต้อนรับผู้มาร่วมงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567 นี้ โดยนอกจากศาลเจ้าต่าง ๆ จะมีการเตรียมความพร้อมแล้ว ทางเทศบาลนครภูเก็ตได้ตกแต่งเมืองจัดจุดเช็คอินไว้อย่างสวยงาม ทั้งพี่หมีขาว มุมตึกแยกธนาคารชาร์เตอร์ เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพร สนามหญ้าแยกธนาคารชาร์เตอร์ น้องย่าหยา หน้าธนาคารออมสิน และสัตว์มงคล วงเวียนหอนาฬิกา รวมทั้งตามถนนหนทางมีการประดับธงสีเหลืองและธงสัญลักษณ์ทั่วเกาะภูเก็ต และนอกจากนี้ บรรดาร้านอาหารเจ ทั้งในตัวเมืองและพื้นที่รอบเกาะภูเก็ต มีการตกแต่งร้านและเปิดจำหน่ายอาหารเจกันบ้างแล้ว ซึ่งแสดงออกถึงความพร้อมต้อนรับงานประเพณีและผู้ศรัทธา รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม งานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นประเพณีท้องถิ่นที่มีความสำคัญ และเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีขึ้นในวันที่ 1-9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี ซึ่งงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต นอกจากจะเป็นการละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเป็นกุศลแล้ว ยังเป็นการแสดงพลังความศรัทธา ความสามัคคีของชาวจังหวัดภูเก็ต และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากพลังศรัทธาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก