เรียนหนัก! แม่ร้องลูก 14 กระดูกคดคาดสาเหตุกระเป๋านักเรียน แพทย์ชี้ยังไม่แน่ชัด

จากกรณีคุณแม่วัย 40 ปี ที่ได้โพสต์ภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ของลูกสาววัย 14 ปี บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ โดยตั้งเป็นสาธารณะเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง บ้างก็แชร์ประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมทั้งให้คำปรึกษากับคุณแม่รายนี้

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 3 สิงหาคม 2562, เวลา 09:00 น.

ภาพประกอบข่าว : ข่าวภูเก็ต

ภาพประกอบข่าว : ข่าวภูเก็ต

ซึ่งก่อนหน้านี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ประกาศเตือนผู้ปกครองให้ใส่ใจลูกหลานวัยประถม ที่ต้องแบกกระเป๋านักเรียนหนักและเกรงว่าเด็ก ๆ จะได้รับบาดเจ็บจากการหกล้มกล้ามเนื้ออักเสบ และส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ ซึ่งจากข้อมูลเผยให้เห็นว่าเด็กนักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาต้องแบกกระเป๋าหนักเป็น 2 เท่ากว่าที่ร่างกายสามารถรับได้ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ในเรื่องนี้ นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ ข่าวภูเก็ต ว่า ตนเห็นพ้องกับข้อมูลที่กรมการแพทย์เคยเผยแพร่ เกี่ยวกับการพบว่าเด็กไทยวัยประถมแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเด็ก และเป็นห่วงว่าการที่ต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ทั้งหนักและนานนั้น อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กได้

ซึ่งการแบกกระเป๋าที่หนักเป็นเวลานานจะเพิ่มโอกาสในการบาดเจ็บต่อโครงสร้างร่างกาย โดยเฉพาะแขนไหล่และสะบัก ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าจะทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปหรือกระดูกไม่เจริญเติบโต เนื่องจากการเจริญเติบโตของเด็กยังมีปัจจัยประกอบหลายประการอาทิ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และกรรมพันธุ์

หากกระเป๋ามีน้ำหนักมากแนะนำให้ใช้กระเป๋าลาก แต่ถ้าน้ำหนักไม่มากและต้องการแบกเป็นเวลานาน ควรใช้กระเป๋าแบบแขวนหลัง (backpack) ส่วนกระเป๋าถือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้แนะนำว่าไม่ควรหนักจนเกินไป และไม่ควรถือกระเป๋าไว้เป็นเวลานาน ๆ

วันที่ 28 ก.ค. เวลา 17.58 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อในชื่อ “สุภาพ ดีบุญมี ณ ชุมแพ” อายุ 40 ปี ชาวจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยฟิล์มเอกซเรย์ เด็กหญิงปารย์ทองแท้ ดีบุญมี ณ ชุมแพ หรือ น้องโทนี่ ลูกสาวอายุ 14 ปี(คลิก) นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น พร้อมระบุข้อความว่า “ผลเอ็กซเรย์ของโทนี่ออกมาแล้ว หมอบอกว่าอาการปวดหลังที่ต้องแบกกระเป๋านักเรียนหนักกว่า 10 กิโลกรัมไปโรงเรียนทุกวัน จนกระดูกสันหลังเริ่มงอ ทำให้ปวดหลังมาก แล้วกว่าจะจบ ม.6 ต้องให้เด็กแบกทุกวันอีกเหรอ กระทรวงศึกษาบ้านเรา” 

จากโพสต์ดังกล่าวนอกจากผู้ใช้ เฟซบุ๊กรายอื่น ๆ จะเข้ามาร่วมแชร์ปัญหาที่บุตรหลานของตนกำลังประสบแล้วยังได้ส่งกำลังใจให้น้องมีอาการดีขึ้นในเร็ววัน ด้านนางสุภาพก็ได้มีการแชร์ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากหลากช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสื่อหลายสำนักได้ให้ความสนใจกับข้อมูลที่เธอโพสต์ลงบนโลกโซเชียลในวันนั้น ซึ่งเธอก็ได้มีการโพสต์ข้อความเพิ่มเติมในเวลาต่อมา อาทิ “สงสารลูก กอดกัน หยอกกันทุกวัน ลูกบอกแต่ว่าเจ็บ ไม่นึกว่าจะเจ็บมากขนาดนี้” หรือ “ไม่ได้หนักแต่ลูกเรา ลูกคนอื่นก็หนัก แล้วกระทรวงศึกษาจะแก้ไขตรงนี้อย่างไร”

นางสุภาพ เปิดเผยอีกว่า ลูกสาวบ่นมาตั้งแต่ ม.1 ว่าปวดหลังมาก ไม่เรียนได้ไหม ทำไมต้องมาแบกหนัก ๆ ทุกวันแบบนี้ ซึ่งเธอก็ได้แต่ปลอบลูกสาวไปว่าเพื่อนคนอื่นก็แบกเหมือนกัน อดทนอีกหน่อยเดี๋ยวก็เรียนจบแล้ว โดยที่เธอไม่ได้คาดคิดเลยว่าลูกจะมีอาการหนักขนาดนี้ ซึ่งภายหลังจากการพูดคุยกับแพทย์ ทำให้เธอทราบว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการแบกสิ่งของหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเธอก็เห็นด้วยกับความเห็นของแพทย์ อ้างอิงจากประสบการณ์ที่เธอได้ฟังลูกสาวบ่นมาตลอดระยะเวลาหลายปี ส่วนการรักษาอาการกระดูกที่คดงอนั้น เธอก็จะพาลูกไปพบแพทย์ตามนัดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมเปิดเผยถึงแนวคิดใช้อิเล็กทรอนิกส์บุ๊ก (E-book) เพื่อไม่ให้เด็กนักเรียนต้องแบกหนังสือไปโรงเรียน

บางกอกโพสต์รายงานว่า รมช.ศึกษาธิการ ยืนยัน ทางกระทรวงฯให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพของเด็กอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็มิได้นิ่งนอนใจ และได้กล่าวถึง มาตรการแก้ปัญหาว่า ขณะนี้มีแนวคิดจะเปลี่ยนวิธีไปใช้ E-book มากขึ้น เพื่อไม่ให้เด็กต้องแบกหนังสือไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นทางออกของปัญหาโดยตรง แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสาเหตุที่เด็กนักเรียนมีอาการกระดูกสันหลังคดนั้น เกิดจากการสะพายกระเป๋าที่หนักเกินไปหรือไม่ แต่ก็คิดว่าอาจมีส่วน

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า ตนได้ออกหนังสือเวียนกำชับเรื่องน้ำหนักของกระเป๋านักเรียนไปยังทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งมัธยมศึกษาและประถมศึกษาแล้ว พร้อมอธิบายว่า น้ำหนักของกระเป๋านักเรียนตามมาตรฐานทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัวเด็ก แต่ในขณะเดียวกันครูและผู้ปกครองต้องดูแลเรื่องการจัดตารางสอนให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กลดภาระในการแบกกระเป๋าหนัก ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมอาจจะจัดทำเป็นล็อกเกอร์หรือตู้เฉพาะสำหรับเด็กนักเรียน เพื่อใช้เป็นที่สำหรับจัดเก็บหนังสือเรียน

ส่วนข้อเสนอให้ใช้ E-book นั้นนายสุเทพ ระบุว่า ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้หนังสือ เพราะยังไม่มีความพร้อม เพราะฉะนั้นจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ตนจะให้กรมวิชาการศึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการใช้ E-book ไปด้วย

ขณะเดียวกันแพทย์รายอื่น ๆ ได้ออกมาปฏิเสธความคิดที่ว่าน้ำหนักของกระเป๋านักเรียนเป็นตัวการนำไปสู่โรคกระดูกสันหลังคด อย่างไรก็ตามแพทย์ ก็ยอมรับว่าน้ำหนักของหนังสือเรียนนั้นสามารถทำให้อาการป่วยแย่ลงได้

นายแพทย์กิตติพงษ์ วิทยาไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (โรคกระดูกสันหลัง) รพ.ขอนแก่นราม กล่าวว่า การเจ็บปวดที่หลังหรือไหล่อาจเกิดจากผลข้างเคียงที่กล้ามเนื้อในร่างกายไม่ปกติ หรือมาจากความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ส่วนอาการกระดูกสันหลังที่คดงอนั้นยังไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ากระดูกหลังคดเกิดจากสาเหตุใด ทั้งนี้แนวทางการรักษามีเพียงอย่างเดียวคือ “การผ่าตัด”

ทางด้าน ผศ.ชัชวาล ศานติพิพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หากเด็กนักเรียนที่มีอาการของโรคกระดูกสันหลังคด และมีการสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาเป็นประจำจะส่งผลให้กระดูกสันหลังโค้งงอมากขึ้นได้ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยที่ล่าช้า การรักษาโดยการผ่าตัดจะเป็นเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้น

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้คำอธิบายเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) ว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยทั่วไปส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคสมองพิการ (cerebral palsy) หรือโรคกล้ามเนื้อเสื่อม (muscular dystrophy)

การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในเด็กบางรายกระดูกสันหลังอาจผิดรูปมากขึ้นเมื่อโตสู่วัยรุ่น โดยทั่วไปแล้วกระดูกสันหลังของคนเราจะตรง แต่ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคกระดูกสันหลังคดจะมีแนวกระดูกที่โค้งช่วงเดียวหรือเป็นรูปตัว “C” หรือมีแนวกระดูกโค้งสองช่วงหรือเป็นรูปตัว “S” โดยจะคดไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ได้

การรักษาโรคนี้ทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ผู้ชำนาญการ ซึ่งโดยทั่วไปทำได้ด้วยวิธีการ “ใส่เสื้อเกราะดัดหลัง” และ “การผ่าตัด”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่