เรือนจำบางโจ 789 ล้าน คาดแล้วเสร็จภายในธันวาคม 2561

ภูเก็ต - ผบ.เรือนจำภูเก็ตแจงแผนรวมถึงอธิบายความคืบหน้าการก่อสร้างเรือนจำบางโจ เพื่อรองรับผู้ต้องขังได้มากถึง 4,000 คน หลังเรือนจำจังหวัดภูเก็ตเดิมมีอายุการใช้งานมากกว่า 118 ปี และเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังทั้งหญิงและชายที่มีจำนวนมากกว่า 3 เท่าของความจุที่เรือนจำแห่งนี้สามารถรองรับได้

เปรมกมล เกษรา

วันเสาร์ ที่ 13 มกราคม 2561, เวลา 12:00 น.

“เรือนจำจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบันมีผู้ต้องขังกว่า 2,700 คน แบ่งเป็นชาย 2,300 และหญิง 400 คน เด็กทารกเพศหญิงอายุ 1 เดือน 1 คน ซึ่งเกินขีดจำกัดในการรองรับไปหลายเท่าตัว โดยผู้ต้องขังส่วนมากกระทำผิดในข้อหายาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า พืชกระท่อม และยาไอซ์ โทษลักทรัพย์ และโทษอนาจารทางเพศ” นายสมคิด คำมั่ง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ ข่าวภูเก็ต

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแผนการบริหารและความคืบหน้าของการก่อสร้างเรือนจำบางโจ ในพื้นที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง ว่าขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วมากกว่าร้อยละ 30 ภายหลังจากมีการส่งมอบพื้นที่ช้ากว่ากำหนด

“สัญญาก่อสร้างเรือนจำบางโจออกแบบโดยกรมราชทัณฑ์ ให้มีมาตรฐานตามแบบของกรมฯ เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่ได้รับโทษไม่เกิน 15 ปี ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 789 ล้านบาท โดยบริษัทกิจการร่วมค้า ส.ฤดีทรงธรรมร่วมกิจ และบริษัทคอนสตรัคชั่น เอ็กคลูซีฟเนส สัญญาเลขที่ 69/2558 เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 58 มีกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง 1,080 วัน ขณะนี้การก่อสร้างคืบไปแล้วประมาณ 30%” นายสมคิด กล่าว

เรือนจำตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 42 ไร่และบ้านพักของเจ้าหน้าที่และส่วนต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นที่จำนวน 100 กว่าไร่

“ก่อนเริ่มการก่อสร้าง โครงการประสบปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจากกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากความจำเป็นด้านการจัดการพื้นที่ให้พร้อมก่อนส่งมอบ ส่งผลให้ผู้รับเหมาเริ่มงานได้ช้ากว่ากำหนด นอกจากนั้นที่ผ่านมาผู้รับเหมาได้ประสบปัญหาหลายอย่างขณะก่อสร้าง เช่นมรสุม ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงทำให้ล่าช้าออกไป โดยยังไม่ทราบว่ากำหนดการแล้วเสร็จที่ชัดเจนคือเมื่อไร ต้องรอให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้กำหนด”

ด้านนายสุรชาติ จิตรศิริพานิช ผู้จัดการโครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดภูเก็ต (แห่งใหม่) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่า “กำหนดสิ้นสุดของการก่อสร้างโครงการนี้คือวันที่ 14 ก.ค. 61 แต่คาดว่าจะแล้วเสร็จล่าช้าเนื่องจากมีการส่งมอบพื้นที่ช้า คาดว่าเร็วที่สุดคาดว่าน่าจะเป็นเดือนมิ.ย. 61 ช้าสุดน่าจะเป็นภายใน ธ.ค 61 นี้”

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างโครงสร้าง ซึ่งดำเนินไปแล้ว 80% จากนั้นจะเป็นส่วนของงานสถาปัตยกรรม เช่น ก่ออิฐ ฉาบปูน งานพื้นผิว ฝ้า หลังคา หลังคาของเรือนจำแห่งใหม่นี้มีสีแดง อาคารสีขาว และมีการออกแบบการระบายอากาศให้ปลอดโปร่งด้วยการใช้อุโมงค์ลม หลังคากันความร้อน เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน” นายสุรชาติ อธิบาย

“เรือนจำจะรองรับผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี จำนวน 4,000 คน แบ่งเป็นชาย 3,000 คน หญิง 1,000 รวมถึงการจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อนด้วย แต่ขณะนี้กำลังเสนอเรื่องไปที่กรมฯ เพื่อใช้เรือนจำบางโจเพื่อรองรับผู้ต้องขังชายเท่านั้น และปรับปรุงเรือนจำภูเก็ตให้เป็นทัณฑสถานหญิง” นายสมคิด กล่าว

พร้อมอธิบายว่า ความสะดวกสบายภายในเรือนจำจะดีกว่าเรือนจำภูเก็ตปัจจุบันมาก ห้องนอนแต่ละห้องมีหลายขนาด เช่น 8x12 เมตร และ 12x12 เมตร รองรับไม่เกิน 20-30 คนต่อห้อง จะไม่แออัดเหมือนปัจจุบัน และมาตรฐานของอาหารจะอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบัน

“การดูแลผู้ต้องขังภายในเรือนจำอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อาหารการกินสะอาด ถูกสุขลักษณะ ผู้ต้องขังจะได้รับประทานข้าวขาว ส่วนกับข้าวเป็นอาหารทั่วไป เช่นแกงเหลือง ผัดผัก ไก่ทอด ซึ่งบางครั้งผู้ต้องขังต่างชาติรับประทานไม่ได้ เราก็ต้องพยายามค่อยๆ ปรับ หากรับประทานน้ำปลาไม่ได้ เราก็มีเกลือไว้บริการ ภายในร้านค้าสหกรณ์เราจะจัดขนมปังและอาหารตะวันตกไว้จำหน่าย ซึ่งผู้ต้องขังสามารถซื้อได้ แต่จะใช้เงินได้ไม่เกินวันละ 300 บาท”

นอกจากนี้ ในทุกๆ ปี ทางเรือจำจะประดับต้นคริสต์มาสต์ความสูงประมาณ 80 ซม. เพื่อการเฉลิมฉลองเล็กๆ สำหรับผู้ต้องขัง พร้อมระบุว่า เรือนจำจังหวัดภูเก็ตใส่ใจทุกศาสนา รวมไปถึงการจัดพิธีทางศาสนาอิสลามให้ผู้ต้องขังด้วยหากมีการแจ้งความจำนงเข้ามา

“เมื่อเดือนธค. ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังต่างชาติได้แจ้งความจำนงขอพิซซ่าและไก่ทอด ทางเรือนจำได้จัดเจ้าหน้าที่ออกไปซื้อมาจำหน่ายให้ผู้ต้องขังได้ซื้อรับประทาน เนื่องจากทางเรือนจำไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ในการรับรอง”

“อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดของเรือนจำคือการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ต้องขังเพื่อนำไปใช้ประโยชน์หลังพ้นโทษ สำหรับผู้ต้องขังชาย เราจัดการฝึกงานไม้ งานช่างปูน ฯลฯ สำหรับผู้ต้องขังหญิง เราได้จัดห้องเรียนด้านการบริการการท่องเที่ยวและการโรงแรม การใช้ภาษาอังกฤษ และงานฝีมือต่างๆ และขณะนี้กำลังเสนอเรื่องไปที่กรมในการจัดให้ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีสามารถออกไปทำงานที่โรงผลิตเฟอร์นิเจอร์ โดยมีรถจากเรือนจำไปรับ-ส่งทุกวัน”

“ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายติดต่อกับทางเรือนจำในการเสนองานที่ให้ผู้ต้องขังสามารถหารายได้ เช่นการถักอวน หรือการปักผ้า ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งดีต่อผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการใดสนใจให้ผู้ต้องขังทำงานต่างๆ จากเรือนจำ ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้” นายสมคิด กล่าว

สำหรับการขนย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำภูเก็ตปัจจุบันบนถนนดำรง ไปยังเรือนจำแห่งใหม่นั้นจะใช้เวลา 1 วัน โดยขอความร่วมมือจากเรือนจำภาค 8 ในการใช้รถ 6 ล้อบรรทุกผู้ต้องขัง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมดูแลความปลอดภัยในการขนย้ายนี้อย่างเข้มงวด

“อยากฝากไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเรือนจำแห่งใหม่ว่า ระบบความปลอดภัยมีความแน่นหนาพอเพียงอย่างแน่นอน ทั้งด้านเจ้าหน้าที่และระบบกล้องวงจรปิด จะไม่มีเหตุการณ์นักโทษหนีอย่างแน่นอน ขอให้หายห่วง” นายสมคิด ยืนยัน

นายวรวุฒิ ทรงยศ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร ระบุว่า ในส่วนของความมั่นใจด้านความปลอดภัยของชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณที่มีการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่นั้น จนถึงบัดนี้ตนยังมิได้รับรายงานหรือข้อร้องเรียนจากชาวบ้านแต่อย่างใด

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่