“ความหวังยังพอมี หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน ไปสำรวจหญ้าทะเลที่ภูเก็ต พบว่าออกดอกเตรียมให้กำเนิดต้นอ่อนสู่อนาคต หญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูง (พืชมีดอก) กลุ่มเดียวที่สามารถปรับตัวลงไปอยู่ในทะเลได้ (ป่าชายเลนแค่มีรากอยู่ในน้ำ ไม่ได้จมในน้ำทั้งหมด)” อาจารย์ธรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ธรณ์ กล่าวอีกว่า ที่จังหวัดตรังและกระบี่ยังคงมีพะยูนอาศัยอยู่ แต่เหลือน้อยลง ซึ่งบางส่วนได้อพยพเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต ส่วนภาพรวมแหล่งหญ้าทะเลหลักของภูเก็ตยังมีส่วนที่สมบูรณ์ดี แต่ก็ยังต้องใช้เวลา
“พะยูนกินหญ้าทะเลหลากหลายชนิด กินอย่างอื่นก็ได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่หญ้าทะเลยังคงเป็นอาหารหลัก เราจึงไปดูว่า หญ้าที่ภูเก็ตยังพอไปต่อได้ไหม พะยูนจะมีพอกินหรือเปล่า โดยเฉพาะช่วงหลังมรสุม ที่อาจเกิดผลกระทบ เช่น คลื่นซัดทรายเข้ามากลบ คลื่นพัดทรายออกไปจนรากโผล่ ยังรวมถึงสถานการณ์โดยรวมของโลกร้อน เราต้องตามดูว่า วิกฤตหญ้าทะเลลามมาถึงภูเก็ตไหม”
“คำตอบยังพอให้ใจชื้น แม้ในภาพรวมของแหล่งหญ้าทะเลหลักของภูเก็ต จะมีความหนาแน่นน้อยลง แต่ยังมีส่วนที่สมบูรณ์ดี หญ้ายังออกดอก เตรียมพร้อมผสมพันธุ์ให้กำเนิดลูกหลาน”
“ณ ตอนนี้พอบอกได้ว่ายิ้มได้น้อยๆ แม้อนาคตยังไม่แน่ แต่ก็ดีกว่าตายเหี้ยนเหลือแต่ตอเหมือนบางแห่งที่เกิดวิกฤต ทีมวิจัยสรุปมาว่า แม้ที่นี่ยังมีหวัง แต่สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้ยังไม่เหมาะกับการปลูกฟื้นฟูหญ้าทะเล ต้องรอให้นิ่งก่อน” อาจารย์ธรณ์ กล่าว