ไทยพบโรคฝีดาษลิงกว่าร้อยรายกรมควบคุมโรคเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองสุขภาพ 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ องค์การอนามัยโลกได้แจ้งเตือนสถานการณ์ การระบาดโรคฝีดาษวานรในบางประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก ให้เป็น PHEIC (public health emergency of international concern)

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 24 สิงหาคม 2567, เวลา 11:00 น.

พร้อมเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทุกด่าน โดยเฉพาะด่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางจากทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 ส.ค.) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคฝีดาษวานรว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคฝีดาษวานรในทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก เช่นประเทศสาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐรวันดา สาธารณรัฐยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบอัตราการป่วยด้วยโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์ Mpox clade 1b สูงขึ้น ในปี 2565 - 2567 ผู้ป่วยสะสม 14,250 ราย เสียชีวิต 456 ราย ขณะที่ประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร 140 ราย และเป็นสายพันธุ์ Mpox clade 2 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับในทวีปแอฟริกา แต่อย่างไร มีมาตรการในการเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยอยู่แล้ว
• ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 พบผู้ป่วยยืนยัน 827 ราย
• เฉพาะปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม พบผู้ป่วยยืนยัน 140 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ Clade 2 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาที่ WHO ประกาศ คือ สายพันธุ์ย่อย Clade 1B

กรมควบคุมโรควางมาตรการเฝ้าระวังเข้มงวด


1. ให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพิ่มการเฝ้าระวังผู้ที่อาจป่วยด้วยโรคฝีดาษวานร โดยใช้แนวทางเฝ้าระวัง แนวทางการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาตามมาตรการ ในการดูแลโรคฝีดาษวานร
2. ให้ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ คัดกรองโรคฝีดาษวานรในผู้เดินทางที่มีความเสี่ยงที่มาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ณ จุดคัดกรองโรค ทุกช่องทาง บก เรือ และอากาศ ก่อนจะเข้าประเทศ โดยเฉพาะด่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา
3. เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษวานร ทั้งห้องปฏิบัติการสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และหน่วยงานในสำนักงานกระทรวงสาธารณสุข
4. จัดเตรียมเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างเพียงพอ
5. จัดเตรียมทีมเฝ้าระวังสอบสวนและการจัดการพื้นที่ ในกรณีเกิดการระบาดของโรคฝีดาษวานร

กำหนดแนวทางรายละเอียดและการปฏิบัติ มอบหมายกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เพิ่มมาตรการและเข้มงวดการตรวจคัดกรองสุขภาพ สำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ได้แก่

1) ตรวจสอบการลงทะเบียน Health Declaration (ใบรับรองการลงทะเบียนแจ้งสุขภาพ) เพื่อการควบคุมโรค ซึ่งต้องมีที่อยู่ การเดินทางและสถานที่ติดต่อระหว่างอยู่ในประเทศไทย

2) ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (Health Beware Monitor) 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน บริเวณด่านคัดกรอง รวมทั้ง QR code สำหรับการรายงานอาการเจ็บป่วยของตนเอง

Thai Residential

3) วัดอุณหภูมิร่างกาย

4) หากพบผู้เดินทางมีผื่น หรืออาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จะทำการแยกไว้ในห้องแยกโรคทันที และเก็บตัวอย่างจากผื่น และจากคอหอย ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี RT-PCR ณ ห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคฯ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสามารถรอผลตรวจในห้องแยก 70 นาที

5) หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเป็นโรคฝีดาษวานร จะส่งรับการรักษา ณ สถาบันบำราศนราดูร

6) กรณีพบผู้เดินทางมีผื่นชัดเจนที่ด่าน หรือสนามบิน ให้พามาตรวจสอบอาการที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ได้ทันที

ข้อปฏิบัติ-ข้อสังเกตลักษณะอาการโรคฝีดาษวานร
• ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคล
• หมั่นสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
• เริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตามร่างกายเป็นตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนอง ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้น

ข้อเน้นย้ำการป้องกันโรคฝีดาษวานร
• หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดบุคคล และขอให้มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ
• หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
• หากผู้ที่มีอาการสงสัยสามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค

ที่มา: กรมควบคุมโรค

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่