“แท็กซี่โบ๊ท” เรือโดยสารรอบเกาะภูเก็ต ทางเลือกลดปัญหารถติดในปัจจุบันของภูเก็ต

ภูเก็ต - ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เสนอไอเดียการนำเรือมาใช้รับผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาการจราจรทางบกที่แออัดในจังหวัดภูเก็ต

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพฤหัสบดี ที่ 19 ธันวาคม 2567, เวลา 09:00 น.

นางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คลัสเตอร์อันดามัน และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ ข่าวภูเก็ต ภายหลังจากได้มีการนำเสนอต่อ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในโอกาสเข้าร่วมงานแถลงข่าวตามโครงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายสำคัญ ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต (กิจกรรมผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชน) ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมมุกอันดา ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

“เราเปลี่ยนคำพูดจากเดิมเราเรียกมารีน่าชุมชน เราอยากมี “มารีน่าชุมชน” เพราะว่า เมื่อเอามารีน่ามารวมกับชุมชนมันให้ความรู้สึกจับต้องได้มากขึ้น ให้ภาคท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ก็คือมีจุดจอดสำหรับเรือของชาวบ้านในท้องถิ่น และจุดจอดในส่วนของเรือของผู้ประกอบการ ซึ่งตรงนี้เรามีการผลักดันมานานมากแล้ว เป็นเวลานับสิบปีเพื่อให้เกิดมารีน่าชุมชน” นางวิรินทร์ตรา กล่าว

“ประกอบกับตอนนี้ภูเก็ตรถติดมากถึงมากที่สุดแล้วแก้ไขปัญหานี้ยากมากถึงมากที่สุด แล้วก็ต้องใช้เวลานานและงบประมาณเยอะพอสมควร เราเลยมานึกถึงคำว่ามารีน่าชุมชน ถ้านึกภาพไม่ออกก็ขอให้นึกถึงเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เรานึกไปว่า แท็กซี่โบ๊ทไหม? เรือรอบเกาะไหม? มารีน่าชุมชนไหม? นั่นคือความหมายเดียวกันทั้งหมด เพื่อที่จะลดการคมนาคมขนส่งที่แออัดทางบก”

“จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะ ทำไมเราไม่ใช้ทางน้ำให้มันเกิดประโยชน์ เพื่อลดการจราจรที่แออัดอยู่ทุกวันนี้ ปัจจุบันเรามีท่าเรืออยู่มากกว่า 20 แห่ง จากการที่ได้พูดคุยกับเจ้าท่าฯ ถ้าเราเอาท่าเรือเหล่านั้นมาพัฒนาให้ใช้งานได้ตอบโจทย์ได้จริงและใช้เรือเทียบได้จริง แทนที่จะถูกทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า แล้วบริเวณท่าเรือนั้นเราก็เอาสินค้า ร้านค้า อาหารทะเลมาวางขาย ให้ชาวบ้านได้มาประกอบธุรกิจของตัวเอง เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ” นางวิรินทร์ตรา อธิบายเพิ่มเติม “ยกตัวอย่างราไวย์ มีอาหารซีฟู้ดดังมาก แล้วก็แน่นมากรถติดมาก แล้วถ้าเราสร้างขยายจุดนี้ไปยังจุดต่าง ๆ ของท่าเรือ มันก็เป็นการกระจายรายได้และไม่ไปกระจุกอยู่ที่ราไวย์อย่างเดียว”

หยุดเดินเรือเมื่อมีคลื่นลมแรง

“มีคำถามว่ากรณีที่เกิดคลื่นลมแรงจะทำอย่างไร คลื่นลมแรงก็ไม่ต้องวิ่ง เพราะมันเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อที่จะเปลี่ยนทางรถมาเป็นทางเรือ ช่วงคลื่นลมแรงทางรถที่มีเปิด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ก็ไปวิ่งทางนั้นเลย เพราะนี่คืออีกทางเลือกที่เข้ามาเสริมเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกได้ใช้บริการ เชื่อว่านี่จะเป็นการแก้ปัญหาการจราจรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้อย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว” เธอกล่าวต่อ

จากประสบการณ์การทำงานมามากกว่า 30 ปี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เชื่อมั่นว่าเธอมองเห็นภาพของการท่องเที่ยวและการคมนาคมทางน้ำของภูเก็ตได้อย่างชัดเจน

“ทำไมถึงคิดแบบนี้เพราะพี่เป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทางทะเลมา 30 กว่าปีแล้ว มุมมองของพี่เกี่ยวกับทะเลพี่คิดว่า พี่เห็นภาพชัดเจนมากพอสมควร ก็เลยได้มีการปรึกษากับหลาย ๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าท่าฯ ซึ่งก็ได้ทำการศึกษามานานแล้ว แต่ว่าก็ยังติดเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเราจะขอยกเว้นข้อที่ติดอยู่ได้หรือไม่ เพื่อให้มาช่วยเรื่องการจราจรที่ติดขัดในทุกวันนี้” เธอกล่าว

“ประเทศอื่นเขามีเรือโดยสาร ทำไมภูเก็ตเราไม่มีบ้าง ในลักษณะเป็นเฟอร์รี่โบ๊ท (เรือเฟอร์รี่) ที่อาจจะรับคนจากสนามบินขึ้นรถมายังท่าเรือแล้วลงเรือต่อไปอีกท่าเรือหนึ่ง หรือจะต่อไปอีกท่าเรือหนึ่งไหม หรือจะนั่งรถไปยังจุดหมายปลายทาง เราน่าจะมีแบบนี้”

นางวิรินทร์ตรา กล่าวถึง 3 เป้าหมายหลักคือ 1.ลดการจราจรที่มันแออัด 2. เพื่อให้ชุมชนนั้น ๆ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และ 3. นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปยังจุดหมายด้วยระยะเวลาที่สั้นขึ้นเมื่อท่าเรือมีรอบเกาะ

“สมมติว่านักท่องเที่ยวพักที่บางเทา แล้วเรามีท่าเรืออยู่ที่บางโรง ถ้าต้องการไปพีพี ไปพังงา เขาต้องเลือกท่าเรือที่ใกล้ตัวเองมากที่สุด เพราะฉะนั้นทุกท่าเรือก็จะมีประโยชน์กับนักท่องเที่ยวทั้งหมด เพื่อที่จะเดินทางไปยังเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้โรงแรมของตัวเอง ใกล้ท่าเรือของตัวเอง ลงเครื่อง ขึ้นรถ ลงเรือ ทุกจุด และตรงนี้ไม่บั่นทอนอาชีพของใคร เพราะท่าเรือก็จะต้องมีรถแท็กซี่มารับนักท่องเที่ยวไปยังโรงแรม ซึ่งก็จะถือเป็นการเพิ่มอาชีพอีกส่วนหนึ่งด้วย” นางวิรินทร์ตรา กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเดินหน้าสรุปจัดทำแผนแม่บท งานศึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลาง ด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) และพัฒนาท่าเรือชุมชน

โดยมีนายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าฯ เป็นประธานเปิดการประชุมภายใต้เป้าหมาย เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีคุณภาพระดับโลก ที่มีความหลากหลาย มีความปลอดภัย มีความสะดวก เข้าสู่มาตรฐานสากล จะนำมาซึ่งการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ภูมิภาค และประเทศชาติ อย่างยั่งยืน โดยกรมเจ้าท่า มีเป้าหมายการขับเคลื่อนที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ทะเลและชายฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวทางทะเล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของประตูการค้า ในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวทางทะเลของชุมชน ภูมิภาค และประเทศ เพื่อที่ภายหลังการประชุมกรมเจ้าท่าและคณะที่ปรึกษา จะได้นำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและตรงตามความต้องการของประชาชนต่อไป


 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่