“วันอาหารโลกกำหนดให้มีขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งคนทั่วโลกจะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการลดขยะอาหารในหมู่ผู้คน และเพื่อแก้ไขปัญหาความหิวโหยทั่วโลก” แสวง ‘แจ็ค’ ขาวลา ผู้จัดการภูมิภาค SOS ประเทศไทย อธิบาย The Phuket News รายงาน
มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2559 โดยได้เริ่มบุกเบิกโครงการในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีโรงแรมห้างร้านและโรงงานขนาดใหญ่มากมาย ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความหรูหราเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ครัวของโลก’ โดยทางเอสโอเอสพบว่ามีปริมาณอาหารส่วนเกินจำนวนมหาศาลถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ มีอาหารถึง 45% ถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบทุกวัน แต่เมื่อมองไปตามท้องถนนยังมีผู้คนมากมายที่ขาดแคลนอาหารสำหรับชีวิตประจำวัน
“เป้าหมายของเราคือการช่วยขยายระบบการลดขยะอาหารในประเทศและสร้างสมดุลที่ดีให้กับผู้ที่ขาดแคลน โดยแจกจ่ายอาหารส่วนเกินคุณภาพสูงจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และอื่น ๆ ให้กับผู้ด้อยโอกาสทุกวันในกรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ และในพื้นที่อื่น ๆ ของไทย”
“ในปีนี้มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย สาขาภูเก็ต และพันธมิตร ตั้งเป้าจัดงานวันอาหารโลกในวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566 เพื่อบริจาคกล่องอาหาร (ฮาลาล) รวมอาหาร 20,000 ชุด ได้แก่ น้ำดื่ม นม ของขบเคี้ยว และอื่น ๆ อีกมากมาย สำหรับทุกอำเภอในจังหวัดภูเก็ต” แจ็ค อธิบาย
ความพยายามครั้งใหญ่ในการช่วยบรรเทาทุกข์ด้านอาหารแก่พื้นที่เปราะบางทั่วภูเก็ตได้ดำเนินการร่วมกับเทศบาลท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนอาสาสมัครท้องถิ่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาสาสมัครศูนย์สุขภาพหมู่บ้าน และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต (พมจ.ภก.)
นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนที่แล้วยังมีโรงแรมหลายร้อยแห่งทั่วเกาะที่ได้เข้าร่วม ในนามของการช่วยเหลือคนยากจนและก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติที่ว่า “ขยะอาหารเป็นศูนย์” ทั่วภูเก็ต
“ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมามูลนิธิเอสโอเอสและสมาคมต่าง ๆ ได้แจกจ่ายอาหารด้วยวิธีนี้ทุกปี เพื่อช่วยเหลือผู้อ่อนแอ และผู้ที่ยังคงดิ้นรนกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น” แจ็ค อธิบาย
“งานวันอาหารโลกแสดงให้เห็นถึงความสามารถของพวกเรา ในการช่วยเหลือผู้คนจากทุกศาสนา ทุกผิวสี สัญชาติ อายุ และทุกเพศ ทุกภาคส่วนช่วยเหลือทุก ๆ คน เราคิดว่างานวันอาหารโลกจะแสดงให้โลกเห็นว่าเราใส่ใจทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนของภูเก็ต” เขากล่าวเสริม
โรงแรมเข้าร่วม
ในการประชุมเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว เป็นประธาน นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ที่ปรึกษาหอการค้าภูเก็ต ประกาศว่าจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล สำหรับรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารขยะและอาหารส่วนเกินในภูเก็ต
นายภูมิกิตติ์ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ชี้ให้เห็นว่าโครงการนำร่อง ‘รูปแบบการจัดการขยะอาหารแบบมีส่วนร่วม’ อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่แล้ว โครงการมุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณขยะอาหาร และการวางแผนการซื้ออาหารและผลิตผลของแต่ละบุคคลและองค์กร แต่ยังคงมุ่งหวังที่จะจัดหาอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และเห็นผู้คนบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปด้วย โดย ‘ศูนย์การจัดการด้านอาหาร’ จะถูกจัดตั้งขึ้นในทั้งสามอำเภอของจังหวัดภูเก็ต
สามประเภท
เอสโอเอสประเทศไทยตระหนักถึงการบริจาคอาหารที่มีความแตกต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่ อาหารสด อาหารส่วนเกิน และเศษอาหาร
‘อาหารสดใหม่’ คือ อาหารปรุงสด พร้อมรับประทาน มีคุณภาพขายได้ ทั้งปลอดภัยและมีคุณภาพที่ผู้บริโภคต้องการ องค์กรช่วยเหลือด้านอาหารอธิบายว่ามันสามารถเก็บไว้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย
‘อาหารส่วนเกิน’ คืออาหารที่ยังปลอดภัยต่อการบริโภค แต่คุณภาพอาจเปลี่ยนแปลงไป และไม่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคหรือขายไม่ได้ อาหารส่วนเกินจึงสามารถบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
‘ขยะอาหาร’ คือ เศษอาหารที่ไม่สามารถนำมาบริโภคต่อได้ เกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถจัดการอาหารส่วนเกินได้ “เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค และไม่สามารถบริจาคได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล ซึ่งอาจกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นควรบริหารจัดการด้วยการใส่ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เอสโอเอส ประเทศไทย อธิบาย
นี่คือข้อแตกต่างระหว่างอาหารทั้ง 3 ประเภท ซึ่งเราสามารถเลือกบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ในทางกลับกันเอสโอเอสได้จัดสรรอาหารส่วนเกินจำนวนมากเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งอาหารโดยตรงไปยังชุมชนที่ต้องการ หรือปรุงอาหารส่วนเกิน เพื่อฟื้นฟูอาหาร ปรับปรุงรสชาติอาหาร และส่งต่อไปยังชุมชนที่มีความต้องการ
ยื่นมือเข้าช่วย
“อาหารส่วนเกินจะถูกนำมาจากโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการภายใต้ความเหมาะสมและมีคุณภาพ” เขากล่าว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสมาคมการท่องเที่ยวภูเก็ต ซึ่งมีสมาชิก 281 คน เข้าร่วมความพยายามช่วยเหลือด้านอาหารในเดือนกรกฎาคม และสมาคมโรงแรมภูเก็ตซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 91 คน ซึ่งประกอบด้วยโรงแรมบูติกขนาดเล็กไปจนถึงเครือโรงแรมระดับนานาชาติขนาดใหญ่ ในเดือนมิถุนายนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ เอสโอเอส ประเทศไทยจะร่วมมือกันในโครงการต่าง ๆ รวมถึงการแจกจ่ายอาหารที่โรงแรมบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในชุมชน
ากต้องการมีส่วนร่วมสนับสนุน หรือจัดกิจกรรมบริจาคเพื่อโครงการบรรเทาทุกข์ด้านอาหารของ เอสโอเอส ประเทศไทย ติดต่อ 081-9508711 (แจ็ค) 095-4161955 (เจมส์) หรือ 087-5657259 (แป้ง) ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SOS Thailand ได้ที่ www.scholarsofsustenance.org, เฟซบุ๊ก: SOSFoundationThai หรืออีเมล info@scholarsofsustenance.org