1 ปีหลังประกาศใช้กฎหมายควบคุมธุรกิจฟาร์มสุนัขและแมว

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสุนัขในสถานที่เพาะพันธุ์สุนัข พ.ศ. 2563 และการจัดสวัสดิภาพแมวในสถานที่เพาะพันธุ์แมว พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ 180 วันนับแต่วันประกาศ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (ซอยด๊อก) ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อสวัสดิภาพสัตว์แสดงความกังวลถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การตรวจสอบธุรกิจเพาะพันธุ์สัตว์ต้องชะงัก

มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

วันพุธ ที่ 25 พฤษภาคม 2565, เวลา 13:29 น.

สุนัขสายพันธุ์ไทยผสมแสนรู้และแข็งแรงทนทานเหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย  ภาพ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

สุนัขสายพันธุ์ไทยผสมแสนรู้และแข็งแรงทนทานเหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย ภาพ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

นายสัตวแพทย์ตันติกร รุ่งพัฒนะ จากมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งร่วมออกข้อบัญญัติตามประกาศดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่การประกาศใช้ยังไม่มีการดำเนินคดีที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มและร้านขายสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เป็นไปได้ยากลำบาก หากสถานการณ์คลี่คลายน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในวงการฟาร์มเพาะสุนัขและแมวในประเทศไทย ที่พบในขณะนี้คือฟาร์มสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้ปิดตัวลงหลายราย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ขณะเดียวกันปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการทิ้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ไม่สามารถหารายได้ได้อีกต่อไป

น.สพ.ตันติกร กล่าวว่า ปัญหาหลักที่พบจากฟาร์มเพาะสุนัขและแมวคือการเพาะพันธุ์โดยไม่สนใจสุขภาพของสัตว์ การจำหน่ายลูกสุนัขและลูกแมวที่อายุน้อยเกินกว่าที่จะได้รับวัคซีนที่จำเป็น ทำให้สัตว์เสี่ยงต่อการติดโรคสูง เมื่อมีผู้ซื้อไปจึงป่วยและเสียชีวิตในที่สุด อีกทั้งพ่อ-แม่พันธุ์ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเพาะพันธุ์แล้ว ควรต้องทำหมันหรือหาบ้านใหม่อย่างเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้นำประเด็นดังกล่าวบรรจุไว้ในประกาศสำหรับฟาร์มสุนัขและแมวแล้ว

มาตรฐานที่จำเป็นต้องมีตามกฎหมายฉบับนี้รวมถึง ปริมาณอาหารที่สุนัขและแมวในฟาร์มต้องได้รับในแต่ละวัน ขนาดของกรงและที่พักอาศัย การออกกำลังกายและการดูแลโดยสัตวแพทย์ จำกัดจำนวนคอกที่สัตว์สามารถเพาะพันธุ์ได้และอายุของพ่อ-แม่พันธุ์ เป็นต้น ซึ่งหากเจ้าหน้าที่หรือผู้เห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับดังกล่าว สามารถทำการดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าต้องมีการบัญญัติเพิ่มเติม เพื่อให้ประกาศฉบับนี้คุ้มครองสุนัขและแมวได้อย่างครอบคลุม พร้อมให้ความเห็นว่าหากต้องการสนับสนุนสวัสดิภาพของสุนัขและแมวในประเทศไทย มูลนิธิฯ ขอให้ประชาชนเลือกรับเลี้ยงจากสถานพักพิงแทนการซื้อ สุนัขสายพันธุ์ไทยผสมนั้นฉลาด แสนรู้และแข็งแรงทนทานเหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย เช่นมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ที่มีโครงการหาบ้านให้กับสุนัขและแมวและให้คำปรึกษาตลอดการรับเลี้ยง ยังมีสัตว์สุขภาพดีสมบูรณ์อีกมากที่กำลังรอคอยบ้านใหม่โดยผู้รับเลี้ยงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

สุนัขและแมวสายพันธุ์แท้ถูกเพาะพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ การเลี้ยงสัตว์ขนยาวในประเทศไทยที่อากาศร้อนชื้นทำให้สัตว์เสี่ยงเป็นลมแดด (Heat Stoke) ร่างกายต้องระบายความร้อนตลอดเวลาและโรคผิวหนังเรื้อรัง สัตว์สายพันธุ์แท้ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากร่างกาย เช่น สุนัขพันธุ์ใหญ่มักมีปัญหาที่กระดูกสะโพก ในขณะที่สัตว์จรมีโอกาสน้อยกว่าในการป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ ทั้งนี้หากจำเป็นโปรดเลือกสนับสนุนฟาร์มที่มีมาตรฐาน และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสุขภาพของสัตว์เป็นหลักเท่านั้น

สวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้จริงจากการทำงานทุกภาคส่วน หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง เจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้เลี้ยงที่มีความรับผิดชอบและตัดสินใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนรับเลี้ยง เพราะสัตว์เลี้ยงมีอายุที่ยืนยาวและมีค่าใช้จ่ายในการดูแล ต้องไม่เลี้ยงตามกระแสนิยม

ทั้งนี้หากผู้ประกอบการและประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มสุนัขและแมว โปรดแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดต่อเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์, ปศุสัตว์จังหวัด, ปศุสัตว์อำเภอหรือสารวัตรปศุสัตว์เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ซึ่งกรมปศุสัตว์พร้อมนำข้อมูลที่ได้รับแจ้งไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด อีกทางเลือกหนึ่งคือประสานข้อมูลผ่านหน่วยงานเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ทั่วประเทศไทย เช่น มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยที่อีเมล์ clinic@soidog.org เพื่อยุติความทรมานของสุนัขและแมวและการดำเนินธุรกิจที่ทารุณกรรมต่อสัตว์

“ตัวกฎหมายเองไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ แต่ต้องมาจากประชาชนที่เป็นผู้ใช้งาน กฎหมายจึงจะศักดิ์สิทธิ์” น.สพ. ตันติกร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่