6 จังหวัดอันดามันประชุมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนพัฒนาหลังโควิด-19 คลี่คลาย

ภูเก็ต - 6 จังหวัดอันดามัน ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่, ตรัง, พังงา ภูเก็ต, ระนอง และสตูล) ครั้งที่ 1/2566 หารือแนวทางร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลัง สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันเสาร์ ที่ 5 พฤศจิกายน 2565, เวลา 09:18 น.

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 65 เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมจังหวัดภูเก็ตศูนย์ราชการภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพร้อมด้วย นายจําเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล, นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา, นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่, นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน,นายอดิศร ตันเองชวน ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และนายวัฒน เริงสมุทร ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นประธานนำหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เข้าร่วมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่, ตรัง, พังงา ภูเก็ต, ระนอง และสตูล) ครั้งที่ 1/2566

โดยที่ประชุมได้มีการรายงานข้อมูลการคาดการณ์ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และได้ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามความต้องการของพื้นที่นโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ดังนี้ ความก้าวหน้าการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ Specialised Expo ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน EXPO 2028 - Phuket,Thailand โดยประเทศไทยมีกำหนดการเดินทางเพื่อไป ทำ Country Presentation ครั้งที่ 2 ในช่วงวันที่ 25 - 29 พ.ย. 2565 ดังนั้นขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นกำลังใจให้ภูเก็ตและประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพงานนี้ด้วย

ในส่วนของความก้าวหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา) มีแผนการดำเนินโครงการกรณีเลือกระบบ ART มีรายละเอียด ดังนี้
1.การศึกษาทบทวนรายละเอียดและความเหมาะสมปรับปรุงแบบ มิถุนายน 2565 ถึงเมษายน 2566
2.งานนำเสนอตามพระราชบัญญัติการร่วมทุน พ.ศ. 2562 พฤษภาคม 66 ถึงเมษายน 67
3.การคัดเลือกเอกชน ppp พฤษภาคม 67 ถึงมิถุนายน 68
4.ก่อสร้างงานโยธาผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถกรกฎาคม 68 ถึงพฤศจิกายน 70
5. เปิดให้บริการ ธันวาคม 70

ด้านความก้าวหน้าโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ความคืบหน้าปัจจุบันเมื่อวันที่ 25, 26 และ 30 ส.ค. 65 การทางพิเศษ แห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลเมืองกะทู้, เทศบาลตำบลศรีสุนทร และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะแก้ว เพื่อนำเสนอและชี้แจงรายละเอียดโครงการ เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้พื้นที่ในเขตป่าไม้ตามพระราชบัญญัติ 2484 เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าไม้ตามพ.ร.บ. 2484 เพื่อการศึกษาด้านต่างๆต่อไป และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจการเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เม.ย.65

ส่วนความก้าวหน้าโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพิจารณาร่างประกาศเชิญชวนเอกชนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2565 กำหนดประกาศเชิญชวนเอกชนและจัดทำยื่นข้อเสนอในเดือนธันวาคม 2565 - มีนาคม 2566

ด้านความก้าวหน้าโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ตามที่ครม. อนุมัติ 5,116 ล้านบาท "ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จ.ภูเก็ต" เพื่อขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จ.ภูเก็ต ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอและตรงกับความต้องการของพื้นที่แถบอันดามัน ปิดช่องว่างปัญหาการรักษาของพื้นที่อันดามันในอดีต รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 2.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต ขนาด 300 เตียง เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในกลุ่มอันดามัน สามารถดูแลรักษาโรคซับซ้อนที่โรงพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ โดยมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยกับโรงพยาบาลต่าง ๆ และ 3.ศูนย์สุขภาพนานาชาติ ให้บริการครบวงจรการแพทย์เพื่อสุขภาพ ทั้งการตรวจ การรักษา การฟื้นฟู และการส่งเสริมสุขภาพ

โดยจะมีศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลสงขลานครินทร์ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมทั่วไปและเฉพาะทางที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งโครงการทั้งสามส่วนนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ รวมทั้งเป็นการขยายศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญของโลกด้วย โดยศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันจะอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง จะให้บริการผู้ป่วยชาวไทยไม่น้อยกว่า 12,500 คน/ปี ผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 300,000 คน/ปี รวมทั้งสามารถดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจังหวัดแถบอันดามัน มีรายได้โดยตรงจากการรักษาชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท/ปี มีศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้ ที่บริการคนไทยและต่างชาติ สร้างรายได้จากชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท/ปี ในส่วนของการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะผลิตได้ปีละกว่า 110 คน และสามารถอบรมทักษะต่างๆ ตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 คน/ปี ลดการไปรักษาโรคซับซ้อนในพื้นที่อื่นของคนในพื้นที่อันดามันไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้ง/ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมติดตามโครงการอื่น ๆ อาทิ ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Andaman Smart City /ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Sport City และการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ พ.ศ. 2568 (2025) ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน / ความก้าวหน้าการพัฒนาและบำรุงร่องน้ำสาธารณะ (คลองนบ)
ให้ได้ความลึกต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุด 2.5 เมตร / ความก้าวหน้าการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ และแปรรูปผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรตามมาตรฐานอาหารฮาลาล และการแก้ไขปัญหาการจอง Slot เที่ยวบิน แต่ไม่บินจริงของสายการบินภายในประเทศ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่