กงสุลใหญ่อินโดนีเซียเข้าพบผู้ว่าภูเก็ต ขอให้ช่วยเหลือผู้ต้องขังอินโดนีเซียและการส่งกลับประเทศผ่าน ทภก.

ภูเก็ต - ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและคณะร่วมต้อนรับ กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา ที่ร้องขอ ให้ช่วยเหลือ ผู้ต้องขังอินโดนีเซียและการส่งกลับประเทศ ผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต แทนที่จะต้องส่งตัวไปที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 สวนพลู กรุงเทพมหานคร

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 21 พฤศจิกายน 2567, เวลา 12:00 น.

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 พ.ย. 67 ที่ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพร้อมด้วยคณะ ประกอบไปด้วยผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตและหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ภูเก็ต กรมการกงสุล ร่วมต้อนรับ นายซุวัรกานา ปริงกานู (Suarganana Pringganu ) กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัว และพูดคุยหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทั่วไประหว่างจังหวัดภูเก็ตและประเทศอินโดนีเซีย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองของสองชาติ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้นายซุวัรกานา กล่าวว่า ชาวอินโดนีเซียเดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ตสูงถึงประมาณ 40,000 กว่าคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นลูกเรือประมง นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเครื่องบิน และบางส่วนแต่งงานกับคนไทยอยู่อาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ และมีความสุขสนุกสนานหรือพึงพอใจ ที่ชาวภูเก็ตจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าบาติก ชาวมุสลิมรวมถึงวัฒนธรรมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับ10ชาติอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมร่วมเพอรานากัน ในช่วงที่ผ่านมาชาวอินโดนีเซียไปประกอบพิธีฮัจญ์และผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เนื่องจากเจ็บป่วยฉุกเฉิน 2 คน และบางรายมีอาการป่วยทางจิตเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นอกจากนี้ ป่วยเป็น HEAT STROKE จำนวน 1 คน ไม่มีเงินเป็นค่ารักษาพยาบาล เพื่อน ๆ จำเป็นจะต้องช่วยกันรวบรวมเงินมาจ่ายให้ และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตคิดค่าใช้จ่ายเพียง 50% เท่านั้น อย่างไรก็ดีชาวอินโดนีเซียไม่ได้ทำประกันสุขภาพในระหว่างการเดินทาง จึงมีการติดต่อประสานงานกงสุล ดังนั้นจึงอยากขอคำแนะนำปรึกษาจากจังหวัดภูเก็ตด้วย

กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือทางการไทยจับกุมลูกเรือประมงอินโดนีเซียที่เข้าน่านน้ำไทย ในจังหวัดสตูลและจังหวัดภูเก็ต โดยผิดกฎหมายในขณะที่ลูกเรือประมงไทยถูกจับกุมที่อินโดนีเซียเช่นเดียวกันและ ในปี 2565 มีจำนวน 11 คนและปี 2566 อีก 69 คน ทางกงสุลได้ไปเยี่ยมมาแล้ว3-5ครั้ง ปัจจุบันที่จังหวัดภูเก็ตปล่อยตัวไปหมดแล้ว ทางกงสุลเคารพกฎกติกาของเรือนจำและขอให้ชี้แจงผู้ต้องขังเข้าใจ ทั้งกรณีลดเวลากักขังหรือ การชำระ ค่าปรับ ปัจจุบันเหลือเพียงที่จังหวัดสงขลา1คนเท่านั้น และต้องขอขอบคุณทางเรือนจำจังหวัดภูเก็ตตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตและตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ตสนับสนุนช่วยเหลือดูแลผู้ต้องขังจนสิ้นสุดกระบวนการพร้อมกับส่งกลับประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดีอยากจะขอความร่วมมือจังหวัดภูเก็ตซึ่งเมื่อชาวอินโดนีเซียถูกจับกุมถ้าเป็นไปได้ให้แจ้งทางกงสุลก่อนที่จะควบคุมตัวขึ้นบนฝั่งเพื่อทางกงสุลจะจัดเจ้าหน้าที่มาร่วมสัมภาษณ์และระบุเอกลักษณ์บุคคล ให้ถูกต้อง รวมไปถึงช่วยเหลือสื่อสารภาษา อินโดนีเซียให้กับทางเจ้าที่ฝ่ายไทยเนื่องจากชาวอินโดนีเซียชื่อจะซ้ำกัน เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ต้องการจะหารือเกี่ยวกับการดูแล ชาวอินโดนีเซีย หลังจากสิ้นสุดการเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ จังหวัดภูเก็ต และรอการส่งกลับ ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต แทนที่จะต้องส่งตัวไปที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 สวนพลู กรุงเทพมหานคร และจึงจะผลักดันออกไป ในเรื่องนี้ ผู้ต้องขังจำนวน 69 คนนั้นทางกงสุลจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินให้ 40 - 45 คน เนื่องจากเป็นชาวบ้านมีฐานะยากจน หากจะส่งตัวผ่านประเทศมาเลเซีย ทางการมาเลเซียไม่อนุญาตให้คนที่กระทำความผิดผ่านเข้าประเทศ รวมทั้งที่ประเทศสิงคโปร์ระบุว่า ผ่านเข้าประเทศได้แต่ต้องมีผู้ติดตามไปร่วมด้วย ซึ่งความเป็นไปได้ ทำได้ยาก เพราะเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก

ทางด้านนายโสภณ กล่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยตั้งอยู่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันมีความสัมพันธ์อันดีอย่างต่อเนื่อง และทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตรับผิดชอบดูแลรักษาชาวต่างประเทศที่ด้อยโอกาสไม่มีเงินเป็นค่ารักษาพยาบาล ไม่ใช่เฉพาะชาวอินโดนีเซียเท่านั้นยังรวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากยุโรปและแรงงานชาวเมียนมาร์จำนวนมาก และเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม อย่างไรก็ดีหากการรักษาพยาบาลจำเป็นต้องใช้เวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์การแพทย์มูลค่าสูงจำเป็นจะต้องติดต่อประสานงานกงสุล ให้ช่วยเหลือให้ถูกต้องต่อไป ในขณะเดียวกันทางจังหวัดภูเก็ตยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านการ ติดต่อประสานงานกงสุลเบื้องต้น ทางโทรศัพท์มือถือใช้วิดีโอคอล หรือ ZOOM ในกรณีที่จับกุมชาวอินโดนีเซีย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นทั้งตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมืองตำรวจน้ำ กองบัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 3 มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางกงสุลอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าเรือนจำจังหวัดภูเก็ตได้แจ้งผู้ต้องขังชาวอินโดนีเซียตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว

สำหรับการเชื่อมโยงระหว่างเกาะบาหลีกับเกาะภูเก็ตนั้นมีการเปิดเส้นทางบินมาแล้ว ประมาณ 3 เดือน มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียและชาวออสเตรเลียหรือชาติอื่น ๆ เดินทางเข้ามาสู่จังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ดีไม่มีปัญหาหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตจะช่วยกันดูแล และการส่งกลับชาวอินโดนีเซียหลังสิ้นสุดการรับโทษน่าจะเป็นไปได้ ที่ส่งออกจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตได้ และตามระเบียบกฎหมายของตรวจคนเข้าเมืองนั้นยังสามารถดูแลได้ในช่วงเวลา 7 วันเท่านั้น ในเรื่องนี้ทางกงสุลจะต้องรับทราบข้อมูลดังกล่าวด้วย ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตกำลังปรับปรุงและกำหนดให้มีหลุมจอดเพิ่มขึ้นอีก 4 หลุม ถ้าเป็นไปได้อินโดนีเซียอาศัยเปิดเส้นทางบินมาจากกรุงจาร์กาตาสู่ภูเก็ต ที่จะเชื่อมโยงทางด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวของ 2 พื้นที่ได้เช่นเดียวกัน

Berda Claude International School of Phuket (BCIS)

พร้อมกันนี้ นายซุวัรกานา ได้กล่าวขอบคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการ การต้อนรับอย่างอบอุ่นและ มีโอกาสพูดคุยหารือในความร่วมมือในระดับจังหวัดภูเก็ต และบทบาทของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้และเชื่อว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวอินโดนีเซียและภูเก็ตได้เป็นอย่างดี

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และกงสุลใหญ่สาธารณรัฐของอินโดนีเซียฯ ต่างมอบของ ที่ระลึกและบันทึกภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก




 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่