กรมชลประทานเสนอเร่งซ่อมถนนทรุดอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ “กําแพงดินเสริมกําลัง”

ภูเก็ต – ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐพีกลศาสตร์ กรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของถนนรอบอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ร่วมกับเจ้าที่ฝ่ายออกแบบส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประธานที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการปรับปรุงซ่อมแซมบริเวณที่ถนนเกิดการทรุดตัวเสียหายด้วย “กำแพงดินเสริมกำลัง”

ข่าวภูเก็ต

วันพฤหัสบดี ที่ 18 มีนาคม 2564, เวลา 15:18 น.

ภาพ เอกภพ ทองทับ

ภาพ เอกภพ ทองทับ

วันนี้ (18 มีนาคม 2564) สำนักงานชลประธานที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราช ชี้แจงกรณีการทรุดตัวของถนนรอบอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ตามที่ ข่าวภูเก็ต ได้เสนอข่าวไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา จดหมายชี้แจงข้อเท็จจริง ลงนามโดย นายณัฐพงศ์ พิศบุญ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม รักษารักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประธานที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 ระบุว่า การทรุดตัวเป็นวงกว้างของถนนบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำคลองกะทะดังกล่าว มีสาเหตุมาจาก กรณีฝนตกหนักติดต่อกันช่วงวันหลายวัน ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 63 ถนนรอบอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ โครงการชลประทานภูเก็ต ได้เกิดการสไลด์ตัวของดินช่วง กม.2+200 ทำให้พื้นถนนเกิดความเสียหาย เป็นระยะทาง 35 เมตร จากนั้นสำนักงานชลประธานที่ 15 โดยโครงการชลประทานภูเก็ตได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 5 พ.ย. พร้อมทั้งได้ทำการติดป้ายแจ้งเตือนแก่ผู้ใช้ถนนสัญจรรอบอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย และได้มีหนังสือลงวันที่ 10 พ.ย. แจ้งไปยังสำนักงานชลประธานที่ 15 เพื่อขอให้ตรวจสอบพิจารณาซ่อมแซมปรับปรุงอย่างเร่งด่วนแล้ว

สำหรับความก้าวหน้าของงานนั้น ล่าสุดสำนักงานชลประธานที่ 15 โดยหัวหน้าฝ่ายออกแบบ นายธนาวุฒิ รักษ์ทอง และนายทัตเทพ เยาวพัฒน์ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 19-20 ก.พ. 64 เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ โครงการชลประธานภูเก็ต รายงานความเสียหายของถนนทรุดตัวบริเวณดังกล่าวว่า มีสาเหตุมาจากการกัดเซาะจากคลื่นน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของลมประจำถิ่น ซึ่งจุดที่เกิดความเสียหายมีการทรุดตัวยาวประมาณ 35 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตร ซึ่งในเบื้องต้นทางโครงการชลประธานภูเก็ตได้ติดตั้งป้ายเตือนวางกรวยจราจร ยางรถยนต์ และแผงเหล็กปิดกั้นบริเวณที่เกิดการทรุดตัวแล้ว

สำหรับแนวทางในการปรับปรุงซ่อมแซม ภายหลังจากการร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ผู้เชี่ยวชาญมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการปรับปรุงซ่อมแซมด้วยกำแพงดินเสริมกำลัง และจะได้ทำการออกแบบเพื่อปรับปรุงถนนรอบอ่างเก็บน้ำคลองกะทะต่อไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่